
บัญชีปลอมแอบอ้างตัวเป็นกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายหน้าจอที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

โพสต์ดังกล่าวมีภาพถ่ายหน้าจอซึ่งมีข้อความที่อ่านว่า
“BREAKING: #ม็อบ25พฤศจิกา เปลี่ยนไปตึกไทยซัมมิท! เพื่อลดการปะทะจากม็อบจัดตั้ง และเพื่อไม่ให้เดินตามเกมของพวกทรราช! พร้อมกัน 15:00 น.
ร่วมอวยพรวันเกิดพ่อของเรา!”
นอกจากนี้ทวีตดังกล่าวยังมีข้อความบนภาพซึ่งเขียนว่า “ไปตึกไทยซัมมิท!”
กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือว่า Free Youth เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563
ผู้ประท้วงได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“ตึกไทยซัมมิท” หมายถึงอาคารสำนักงานของกลุ่มไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของกลุ่มไทยซัมมิท ก่อนที่ในปี 2561 เขาจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
ธนาธรถูกกลุ่มรอยัลลิสต์กล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล บางกอกโพสต์รายงานที่นี่
ภาพถ่ายหน้าจอของทวีตดังกล่าวได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ทวีตดังกล่าวไม่ได้มาจากบัญชีที่ได้รับการยืนยันจากทวิตเตอร์ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกสร้างขึ้นในเดือนมกราคม 2563

ภาพถ่ายหน้าจอของทวีตที่ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นทวีตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่มาจากบัญชีที่มียูเซอร์เนม @FreeY0UTHth
แม้ว่าทั้งสองบัญชีจะใช้ภาพโปรไฟล์เดียวกัน แต่ชื่อยูเซอร์เนมของบัญชีจริงจะใช้ตัว “O” ขณะที่บัญชีปลอมจะใช้เลข “0”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของบัญชีทวิตเตอร์ปลอม (ซ้าย) และบัญชีทวิตเตอร์จริง (ขวา) โดยสำนักข่าว AFP ได้วาดวงกลมสีแสดงเพื่อแสดงจุดสังเกตระหว่างทั้งสองบัญชี

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ภาณุมาศ สิงห์พรม หรือ“เจมส์” ผู้ร่วมก่อตั้งของกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ทวีตข้อความระบุว่าบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นบัญชีปลอม
จะว่าไปแอคเคาท์ปลอมนี้ทำกราฟิกเหมือนดีนะ อยากเห็นหน้าคนทำจริงๆ https://t.co/7xhj9WSseK
— James Panumas (@JamesPanumas) November 25, 2020
ข้อความในทวีตดังกล่าวเขียนว่า “จะว่าไปแอคเคาท์ปลอมนี้ทำกราฟิกเหมือนดีนะ อยากเห็นหน้าคนทำจริงๆ”
สำนักข่าว AFP พบบัญชีทวิตเตอร์ปลอมที่แอบอ้างตัวเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่นี่และนี่
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 Lauren Myers-Cavanagh หัวหน้าฝ่ายสื่อสารนโยบายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของทวิตเตอร์ ยืนยันกับสำนักข่าว AFP ทางอีเมลว่า “บัญชีดังกล่าวถูกระงับจากการละเมิดกฏเรื่องนโยบายการลอกเลียนแบบ”
ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการสร้างบัญชีปลอมนั้นอาจจะมีเป้าหมายในการ “สร้างความขัดแย้งในสังคม” และ “สร้างความสับสนและเข้าใจผิดให้กับผู้ประท้วง”
“ในความคิดของผม ผู้ที่แอบอ้างพยายามดึงกลุ่มคนที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมกับพวกเขา” ดร.เจษฎา กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศและแผนกสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยระยุว่า “เราอยู่ในโลกดิจิตัลที่ใครก็สามารถโพสต์และแชร์อะไรก็ได้ และตอนนี้การจะแอบอ้างและใส่ร้ายหรือทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่าย”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา