วิดีโอและภาพเก่าของทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อานนท์ นำภา ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพของอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกตำรวจจับกุมและนำพาตัวไปที่คุมขัง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นภาพเก่าจากเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคม ปี 2563 นอกจากนี้ ทนายของอานนท์ได้ยืนยันกับ AFP ว่าลูกความของเขายังไม่ได้ถูกจับกุม ณ วันที่ 4 สิงหาคม

“อยู่บนเวทีมวลชน ปากกล้าขาแข็ง.. พอเจอหมายศาล อ่อนเปลี้ยเสียขา.. ทนายอานนท์ นำภาผิดสัญญาการขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวคดี ม.112” ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หรือ X เขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทย

ภาพในโพสต์แสดงให้เห็นอานนท์ นำภาในสภาพโน้มตัวไปด้านหน้าและตำรวจกำลังพยุงหิ้วแขนทั้งสองข้างของเขา

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2566 และมียอดรับชมสูงกว่า 30,000 ครั้ง โดยบัญชีดังกล่าวมักแชร์ข้อความที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ไทย

อานนท์เป็นทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติจากการปราศรัยใน "ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์" ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเดือนสิงหาคม 2563 (ลิงค์บันทึก)

การแสดงออกทางการเมืองของอานนท์ทำให้เขาตกเป็นจำเลยในคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาถูกคุมขังอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564 ก่อนจะได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเหล่านี้ปรากฏขึ้นหลังจากอานนท์ประกาศนัดชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2566 ในช่วงที่มีการประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังพรรคฝ่ายค้านคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม (ลิงค์บันทึก)

ศาลได้กำหนดเงื่อนไขว่าห้ามอานนท์เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือโพสต์ข้อความที่ปลุกปั่นให้มวลชนเข้าร่วมชุมนุม (ลิงค์บันทึก)

“ชัดๆนาทีตำรวจเข้าควบคุมตัว นายอานนท์ นำภา หลังผิดเงื่อนไขประกันตัวชั่วคราว ถึงกัยเข่าอ่อน” โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมบรรยายเป็นภาษาไทย พร้อมแชร์คลิปวิดีโอ 2 คลิป คลิปหนึ่งแสดงภาพอานนท์กำลังถูกตำรวจควบคุมตัวไป ส่วนอีกคลิปหนึ่งแสดงภาพอานนท์กำลังปราศรัยต่อหน้าฝูงชน

โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 14,000 ครั้งและ 1,200 แชร์

ดูเหมือนว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนจะเชื่อว่าภาพถ่ายและวิดีโอในโพสต์เหล่านั้นถูกถ่ายเมื่อเร็วๆ นี้

“ทำอย่างไร..ก็ย่อมได้รับอย่างนั้นสม..ยาวไปประเทศชาติจะได้สงบสุขสักที” คอมเมนท์หนึ่งระบุ

“ขังลืมไปเลยค่ะ เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง” อีกคอมเมนท์หนึ่งระบุ

อย่างไรก็ตาม วิดีโอและภาพถ่ายในโพสต์เท็จเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563

ภาพการจับกุมในปี 2563

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของอานนท์ ยืนยันว่าลูกความของเขายังไม่ได้ถูกตำรวจจับกุมจากการชุมนุมในเดือนกรกฏาคม แต่มีกำหนดการว่าเขาต้องไปปรากฏตัวที่ศาลในอนาคต

“อานนท์ต้องไปศาลในเดือนกันยายนเกี่ยวกับการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว" กฤษฎางค์กล่าวกับ AFP ในวันที่ 4 สิงหาคม

“แต่ตอนนี้เขายังใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก ในพื้นที่กรุงเทพฯ”

อานนท์ยังคงใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 27 กรกฎาคม เขายังได้โพสต์ชักชวนให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ

พ.ต.ท. นพดล ดรศรีจันทร์ รองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ให้สัมภาษณ์กับ AFP ทางโทรศัพท์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราวของอานนท์ เนื่องจากเขา “กระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด”

การค้นหาภาพย้อนหลังเผยให้เห็นว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นอานนท์และภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมทางการเมืองอีกคน ถูกจับกุมในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)

“ภาพส่วนหนึ่ง ตอนตำรวจ “หิ้ว” ตัวของทนายอานนท์ นำภา กับภาณุพงศ์ จาดนอก ออกจากศาลอาญา เพื่อนำตัวไปขังต่อที่ สน.ห้วยขวาง และทั้งสองไม่ให้ความร่วมมือ” iLaw เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกโพสต์โดยศูนย์ทนายฯ และ iLaw (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมไว้:

Image
ภาพถ่ายในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกโพสต์โดยศูนย์ทนายฯ และ iLaw (ขวา)

ช่างภาพของ AFP ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพและเผยแพร่ภาพถ่ายแสดงให้เห็นอานนท์ถูกตำรวจนำตัวขังต่อที่สถานีตำรวจเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่นี่และนี่

“อานนท์ นำภาและภาณุพงศ์ “ไมค์” จาดนอก แกนนำผู้ชุมนุมทางการเมืองทั้งสองคนถูกจับกุมในเย็นของวันที่ 7 สิงหาคม และถูกตั้งข้อหา 8 ข้อจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยข้อหาเหล่านั้นรวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นและการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ห้ามไม่ให้ชุมนุมและทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด-19” คำบรรยายภาพกล่าว

สำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ยังได้โพสต์วิดีโอเหตุการณ์ที่อานนท์ถูกตำรวจพาตัวไปขังต่อ

ก่อนหน้านี้ AFP ได้รายงานว่าอานนท์และภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันต่อมาที่ 8 สิงหาคม 2563 (ลิงค์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา