นี่เป็นคลิปวิดีโอจากการชุมนุมสนับสนุนทรัมป์ในปี 2563 ไม่ใช่ภาพในปี 2566

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 06:01
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอมวลชนที่ออกมาปิดการจราจรในนครนิวยอร์ก หนึ่งวันหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ว่าเขากำลังจะถูกจับ ระหว่างการสอบสวนกรณีค่าปิดปากนักแสดงหนังผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอนี้แสดงเหตุการณ์การประท้วงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมขับรถเข้าสู่ถนนหมายเลข 5 (Fifth Avenue) ไม่ใช่เหตุการณ์ของมวลชนในปี 2566

คำบรรยายภาษาอังกฤษของโพสต์ทางทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 แปลเป็นภาษาไทยว่า: “วันนี้ หน้าอาคารทรัม์ป์ทาวเวอร์ใน NYC!!!”

คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ในทวีตดังกล่าวแสดงขบวนรถพร้อมธงชาติสหรัฐฯ และธงของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บนถนนแห่งหนึ่ง และมียอดรับชมสูงกว่า 720,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ทวิตเตอร์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คลิปวิดีโอดังกล่าวปรากฏอยู่ในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พร้อมคำบรรยายที่เขียนว่า: “อเมริกา ทรัมป์แผลงฤทธิ์ ชาวอเมริกันเริ่มรวมตัวกันที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ ในนิวยอร์ก เพื่อแสดงการสนับสนุนทรัมป์ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวลือว่าเขาอาจถูกจับกุม ก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของเขาทั้งหมดประท้วง”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ในหลายภาษาทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กตอก และเทเลแกรม

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์หลังจากที่ทรัมป์กล่าวในโพสต์ทาง Truth Social ว่าเขาจะ “ถูกจับกุมในวันอังคารหน้า” โดยวาทกรรมของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เรียกให้ผู้สนับสนุนของเขาออกมา “ประท้วง” และ “ยึดประเทศคืน” ในครั้งนี้ มีความคล้ายกับวาทกรรมที่นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง Capital Riots เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564

โพสต์ของทรัมป์เกี่ยวข้องกับคดีที่อัลวิน แบรกก์ (Alven Bragg) อัยการเขตแมนฮัตตัน ตรวจสอบเงินจำนวน 130,000 ดอลลาร์ที่ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าจ่ายเป็นค่าปิดปากสตอร์มี แดเนียลส์ นักแสดงหนังโป๊ในช่วงสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งปี 2559 ให้เธอไม่ออกมาแฉปมชู้สาวระหว่างเธอและทรัมป์เมื่อหลายปีก่อน

เจ้าหน้าที่ของนครนิวยอร์ก ได้เตรียมกำลังรักษาความปลอดภัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากการสอบสวนดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ทรัมป์โดนข้อหาทางคดีอาญา ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกที่อดีตหรือประธานาธิบดีที่ดำรงค์ตำแหน่งของสหรัฐฯ ถูกดำเนินคดีอาญา

ทำให้ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคม 2566 มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งเดินทางมารวมตัวกันที่นครนิวยอร์ก แม้ว่าจะไม่มีการแจ้งข้อหาต่ออดีตผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงเย็นของวันที่ 21

คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ออนไลน์นั้นไม่ได้แสดงการชุมนุมดังกล่าว – แต่ผู้จัดการชุมนุมยืนยันกับ AFP ว่านี่เป็นคลิปวิดีโอของการชุมนุมด้านนอกอาคารทรัมป์ ในปี 2563

ฌอน ฟาราช (Shawn Farash) อธิบายกับ AFP ทางอีเมล เมื่อวันที่ 20 มีนาคมว่า: “วิดีโอที่กำลังถูกแชร์ในขณะนี้ มาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2563 ซึ่งเป็นขบวนรถของผู้สนับสนุนทรัมป์พร้อมกับรถกระบะที่นำอาหารไปส่งให้โรงอาหาร Hour Children หลังขบวนรถขับผ่านถนนหมายเลข 5”

ฟาราช เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวในฐานะตัวแทนของ Loud Majority ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดในย่านลองไอแลนด์ โดยเขาได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคลิปต้นฉบับในโพสต์ทางทวิตเตอร์

“นี่ไม่ใช่เหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม” เขาเขียนอธิบายในโพสต์ “นี่เป็นเหตุการณ์จากวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ผมรู้ได้อย่างไร? เพราะองค์กรของผมเป็นคนจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเอง”

ในอีกโพสต์หนึ่ง ฟาราช กล่าวว่า “ใครที่เห็นวิดีโอด้านนอก Trump Tower ขอแจ้งว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์จากวันนี้”

กิจกรรมเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่ง ฟาราช ยืนยันกับ AFP ว่าเป็นกิจกรรมจริงที่เขาจัดขึ้น ได้เขียนอธิบายว่าเป็นรวมตัวกันของผู้สนับสนุนซึ่งจะขับรถยนต์จากลองไอแลนด์มุ่งหน้าเข้าไปสู่ตัวเมืองนิวยอร์ก โดย ฟาราช กล่าวว่าจุดหมายปลายทางคือย่านไทม์สแคว ไม่ใช่ถนนหมายเลข 5 เพื่อไม่ให้ปะทะกับมวลชนฝั่งตรงข้าม

รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและสื่ออย่างเดอะนิวยอร์กโพสต์และฟ็อกส์นิวส์ ได้อธิบายว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการออกมาเพื่อสนับสนุนทรัมป์ ซึ่งในขณะนั้นถูกส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19

ข้อสังเกตุอื่นๆ ที่สามารถช่วยระบุได้ว่านี่เป็นวิดีโอเก่า: ธงของผู้ประท้วงหลายคนเป็นธงจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์ ในปี 2563 ขณะที่ป้ายโฆษณาของซีรี่ย์ “The Comey Rule” ที่ออกอากาศในปี 2563 ปรากฏอยู่บนรถบัส

ภาพของผู้ร่วมชุมนุมบางคนในคลิปวิดีโอดังกล่าว รวมถึงชายที่นำธงที่เขียนว่า “ทรัมป์ 2020” มาคลุมไหล่ ปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของเดอะเนิวยอร์กโพสต์และเดลี่เมล์

AFP ได้ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งนครนิวยอร์ก แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา