ภาพการจับกุมทรัมป์ ถูกสร้างด้วยโปรแกรมจากปัญญาประดิษฐ์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 11:22
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ภาพถ่ายหลายรูปถูกแชร์ในโพสต์ทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพขณะโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเกี่ยวกับคดีในนครนิวยอร์ก อย่างไรก็ตามภาพเหล่านี้ที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์เป็นภาพที่ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้นมา บุคคลที่โพสต์ภาพต้นฉบับยืนยันกับ AFP ว่าเขาสร้างภาพชุดนี้ขึ้นมาด้วยโปรแกรม อดีตผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่ถูกตั้งข้อหา ณ วันที่ 28 มีนาคม

ภาพถ่ายสองรูปนี้ที่แสดงโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งล้อมรอบและจับกุม ได้ถูกแชร์ออกไปในโพสต์ทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 พร้อมคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยว่า: “เหลือเชื่อ เขาได้ตัวทรัมป์”

ขณะที่อีกโพสต์เขียนว่า “ภาพของทรัมป์ถูกจับเหล่านี้มันเหลือเกินจริงๆ”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ทวิตเตอร์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพของทรัมป์ขณะเขากำลังถูกจับ นั่งอยู่ในเรือนจำ และใส่เสื้อผู้ต้องขังสีส้ม ได้รับการตอบสนองจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ว่าเขา “กำลังจะถูกจับกุมในวันอังคารหน้า” และเรียกให้ผู้สนับสนุนของเขาออกมา “ประท้วง” และ “ยึดประเทศคืน”

โพสต์ของทรัมป์ทาง Truth Social สอดคล้องกับการสอบสวนของ อัลวิน แบรกก์ (Alven Bragg) อัยการเขตแมนฮัตตัน เกี่ยวกับเงินจำนวน 130,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทรัมป์จ่ายเป็นค่าปิดปากดาราหนังโป๊ สตอร์มี แดเนียลส์ เพื่อไม่ให้เธอออกมาแฉถึงความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างเธอและทรัมป์เมื่อหลายปีก่อน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559

ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความของทรัมป์ ให้การว่าเขาเป็นคนจ่ายเงินและได้รับค่าตอบแทนภายหลัง

เงินค่าปิดปากแดเนียลส์ สามารถส่งผลให้ทรัมป์ถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงธุรกรรม ซึ่งอาจถูกยกเป็นความผิดทางอาญาธุรกรรมดังกล่าวถูกพบว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดความผิดอาญาอื่น เช่น การละเมิดงบประมาณหาเสียง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแจ้งข้อหาต่อทรัมป์ และ แบรกก์ กล่าวว่าอดีตผู้นำสหรัฐฯ ได้สร้าง “ความคาดหวังที่ผิดๆ” ขึ้น เกี่ยวกับเรื่องที่เขาอาจถูกจับกุม

ภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์

หลายภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด มีที่มาจากโพสต์ทวิตเตอร์ของ อีเลียต ฮิกกินส์ (Eliot Higgins) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวสืบสวน Bellingcat เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

โพสต์แรกของ ฮิกกินส์ แปลเป็นภาษาไทยว่า: “สร้างภาพทรัมป์โดนจับ ระหว่างรอให้ทรัมป์ถูกจับ”

อย่างไรก็ตาม หลายโพสต์ที่นำรูปที่สร้างจาก AI ดังกล่าวไปแชร์ต่อ ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาพแต่ง และมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเขียนคอมเมนต์ว่าพวกเขาเชื่อว่ารูปถ่ายเหล่านี้เป็นของจริง

ฮิกกินส์ กล่าวกับ AFP ว่าภาพเหล่านี้มาจากโปรแกรม MidJourney ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์สร้างภาพถ่ายหรือภาพวาดขึ้นมา โดยเขาระบุว่าเขาไม่สามารถเข้าไปใช้โปรแกรมได้ในเวลาต่อมา

“ผมเข้าไปใช้บริการ (ของ Midjourney) ไม่ได้แล้ว” ฮิกกินส์ บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 22 มีนาคม “มันเริ่มมาจากการลองเล่นๆ เฉยๆ เพื่อดูขีดความสามารถของมัน จากนั้นผมก็รวบรวมภาพนั้นเข้าด้วยกันแล้วก็สร้างเรื่องเล็กๆ ขึ้น จากนั้นมันก็กลายเป็นอย่างที่เห็น”

จากลิงค์ Google Drive ที่เขาแชร์ให้กับ AFP พบว่า ฮิกกินส์ ใช้โปรแกรม MidJourney สร้างภาพทั้งหมด 124 รูป ซึ่งบางภาพตรงกับโพสต์ที่นำภาพเหล่านี้ไปแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

เรเน ดิเรสตา (Renee DiResta) ผู้จัดการฝ่ายวิจัยที่ฝ่ายสังเกตการณ์อินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อธิบายว่า: “คนที่ใช้ภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะบิดเบือนหรือหลอกลวง ในกรณีนี้กับภาพของทรัมป์ คนที่สร้างภาพได้เขียนระบุไว้ว่าเป็นภาพที่มาจาก AI ในโพสต์ของเขา แต่ข้อมูลส่วนนี้ถูกตัดทิ้งไปเมื่อภาพถูกนำไปแชร์ต่อ”

AFP พยายามติดต่อไปยัง MidJourney และทีมหาเสียงของทรัมป์ แต่ไม่ได้รับการคำตอบกลับ

วิธีสังเกตภาพที่ถูกดัดแปลง

ภาพของบุคคลสาธารณะที่สร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ เช่นทรัมป์และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในโลกออนไลน์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวันที่ 23 มีนาคม ทรัมป์ได้แชร์ภาพที่ดูเหมือนตัวเขาขณะกำลังสวดมนต์ AFP ไม่พบต้นฉบับของภาพดังกล่าวด้วยการค้นหาภาพย้อนหลัง ขณะที่นิตยสารธุรกิจของสหรัฐฯ Forbes ได้ชี้จุดสังเกตภาพแต่งในภาพดังกล่าว

เดล วอร์คเกอร์ (Del Walker) นักออกแบบตัวละครอาวุโสของค่ายผลิตเกมสหรัฐฯ Naughty Dog อธิบายกับ AFP ว่าในภาพที่ผลิตด้วย AI สามารถสังเกตได้จากองค์ประกอบภาพเช่น ใบหน้าและแขนขาที่ดูบิดเบี้ยว ตัวอักษรที่ไม่สามารถแปลความหมาย ผิวหนังที่ดู “เรียบเกินจริง” และวัตถุทั่วไปที่มีลักษณะต่างจากปกติ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของการดัดแปลงภาพด้วย AI

อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่าจุดบ่งชี้เหล่านี้ “อาจถูกพัฒนาขึ้นด้วยการอัพเดทของตัว AI ในอนาคต หรืออาจถูกมนุษย์แก้ไขต่อด้วยโปรแกรมแต่งภาพได้”

“วิธีการต้านทาน (ภาพที่มาจาก) AI คือความสงสัยและการตรวจสอบทุกภาพอย่างละเอียด”

ขณะที่ ดิเรสตา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็เห็นด้วย

เธอกล่าวว่า “เราอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ที่ภาพสมจริงที่มาจาก AI ไม่ว่าจะเป็นภาพอะไร แม้แต่ภาพของบุคคล เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครก็ตามจะสามารถสร้างมันขึ้นมาได้”

“การอธิบายว่าการขาดบริบทมีความสำคัญมากแค่ไหน และการสื่อสารต่อสาธารณชนว่าพวกเขาควรตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพที่เร้าอารมณ์ หรือภาพที่แชร์โดยบัญชีที่พวกเขาไม่รู้จัก ล้วนเป็นข้อมูลที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อให้[สังคม]รู้เท่าทันสื่อออนไลน์”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา