นี่เป็นคลิปเหตุการณ์เรือล่มจากปี 2556 และ 2563 ไม่ใช่เรือรูบีมาร์ของอังกฤษถูกกลุ่มกบฏฮูตีโจมตี

คลิปวิดีโอที่แสดงเรือลำหนึ่งกำลังจมลง ได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าของอังกฤษชื่อ รูบีมาร์ (Rubymar) ที่จมลงใกล้คาบสมุทรอาหรับ หลังเรือถูกกลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนโจมตีด้วยขีปนาวุธ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอทั้งสองฉบับแสดงภาพเรือที่จมลงในปี 2556 และ 2563 และไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในทะลแดง

" #เยเมน #สหราชอาณาจักร #อ่าวเอเดน: เรือบรรทุกสินค้าของ #อังกฤษ #โรบิมาร์ ซึ่งถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธในวันนี้โดยกลุ่มฮูตีกำลังจม.. ผู้คนที่อยู่ด้านหลังดาดฟ้าเรือละทิ้งเรือทันเวลาและได้รับการช่วยเหลือ" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอสองฉบับซึ่งเผยให้เห็นเรือบรรทุกสินค้ากำลังจมลง

คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ในภาษาไทยยังปรากฏในโพสต์อื่นๆ เช่น ที่นี่ และ นี่ และยังพบในภาษาอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี และ สเปน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

กลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม "อักษะแห่งการต่อต้าน" ที่นำโดยอิหร่าน เริ่มโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มฮูตีประกาศว่าพวกเขาจะโจมตีเรือที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสตั้งแต่เดือนตุลาคม 

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่อังกฤษแถลงว่า เรือรูบีมาร์ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของกลุ่มฮูตี ขณะผ่านช่องแคบบับ เอล-มันเดบ ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลแดงและอ่าวเอเดน การโจมตีดังกล่าวทำให้ลูกเรือบนเรือรูบีมาร์ต้องสละเรือ (ลิงก์บันทึก)

กองบัญชาการส่วนกลางสหรัฐฯ ระบุว่า มีการยิงขีปนาวุธสองลูกจากพื้นที่ที่ควบคุมโดยกลุ่มฮูตี แต่มีเพียงหนึ่งลูกเท่านั้นที่พุ่งโดนเรือรูบีมาร์ (ลิงก์บันทึก)

ต่อมา ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ยาห์ยา ซารี โฆษกของกองทัพฮูตี ได้ออกมาแถลงว่า กลุ่มฮูตีได้มุ่งเป้าโจมตีไปที่เรือจำนวนสามลำ รวมถึงเรือรูบีมาร์ด้วย (ลิงก์ถาวร) สำนักข่าวบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ว่า เรือรูบีมาร์ได้รับความเสียหายจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่ไม่ได้จมลง และกำลังถูกลากไปยังชายฝั่งของเมืองจิบูตี

อย่างไรก็ตาม วิดีโอทั้งสองฉบับที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ได้แสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือรูบีมาร์

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอฉบับแรก AFP พบว่าโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากเช่น ที่นี่ และ นี่ ถูกเผยแพร่หลายปีก่อนการโจมตีเรือรูบีมาร์ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่) โพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นเรือเอ็มวี แอตแลนติก คอนฟิเดนซ์ (MV Atlantik Confidence) ที่จมลงนอกชายฝั่งโอมานในปี 2556 หลังเกิดเหตุไฟไหม้ห้องเครื่องบนเรือ

สำนักข่าวของประเทศตุรกีได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเผยแพร่ภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปวิดีโอ ซึ่งตรงกับวิดีโอที่เผยแพร่ในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรายงานข่าวโดยสำนักข่าวตุรกี

ส่วนวิดีโอฉบับที่สองก็ถูกนำไปเผยแพร่ต่อพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จเช่นกัน

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากคลิปที่สอง พบรายงานและวิดีโอยูทูปจากปี 2563 ที่เผยแพร่ภาพเรือสเตลลาร์ แบนเนอร์ (Stellar Banner) ซึ่งเป็นเรือ "บรรทุกแร่ขนาดใหญ่" กำลังจะจม (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เรือสเตลลาร์ แบนเนอร์เกยตื้นอยู่นอกชายฝั่งบราซิลในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากที่แล่นออกนอกเส้นทางที่วางแผนเอาไว้ ต่อมา เมื่อการตรวจสอบพบว่าเรือ "เสียหายทั้งโครงสร้าง" เจ้าหน้าที่จึงลากเรือไปยังบริเวณน้ำลึกและทำให้เรือจมลงในที่สุด

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวข้องกับการโจมตีในทะเลแดง เช่น ที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา