
ภาพตัดต่อถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ที่ประธานาธิบดีอิหร่านโดยสาร
- เผยแพร่ วันที่ 17 มิถุนายน 2567 เวลา 06:31
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Tommy WANG, AFP ฮ่องกง, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โพสต์เฟซบุ๊กนี้ได้แชร์ภาพถ่ายหน้าจอที่เผยให้เห็นเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังลุกไหม้ขณะบินอยู่กลางอากาศโดยมีฉากหลังเป็นภูเขา
ข้อความภาษาไทยที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายหน้าจอระบุว่า "ถ้าไม่มีใครจะพูด ฉันก็จะพูด ประธานาธิบดีอิหร่าน เห็นได้ชัดว่าเฮลิคอปเตอร์ของเขาถูกยิงจากท้องฟ้าด้วยเลเซอร์อวกาศ!"
ผู้ใช้งานบัญชีดังกล่าวยังเขียนคำบรรยายด้วยว่า "ใจตรงกันกับผม โครงการ Star trex"

ภาพเดียวกันยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ รวมไปถึงโพสต์ภาษาอื่น ๆ เช่น จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และ ฮินดี
โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบซากเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ในบริเวณหุบภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหมอกหนา ก่อนที่ต่อมาสื่ออิหร่านได้ยืนยันว่าไรซีเสียชีวิต พร้อมผู้โดยสารทั้งหมด 9 คน
อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีไรซี แต่เป็นภาพตัดต่อ
ภาพตัดต่อ
จากการค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพนี้ที่แสดงเฮลิคอปเตอร์ลักษณะคล้าย ๆ กันปรากฏอยู่ในเว็บไซต์คลังภาพอลามี (Alamy) (ลิงก์บันทึก)
ภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดยจอร์จิโอ คัลเดราโต (Giorgio Calderato) พร้อมคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "09/09/2012 การสำรวจภาพถ่ายทางอากาศในเมืองวัลดาญโญ (อิตาลี) ด้วยเฮลิคอปเตอร์ บริษัทแอมพริออน (Amprion) เป็นผู้ดำเนินการระบบส่งไฟฟ้าที่สำคัญรายหนึ่งในยุโรป และให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงพิเศษของเยอรมันที่มีความยาว 11,000 กิโลเมตร"

จากการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบว่าภาพเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกไฟไหม้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ไอสตอก (iStock) ซึ่งเป็นเว็บไซต์คลังภาพในแคนาดา (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า "ภาพจากคลังภาพ เฮลิคอปเตอร์ระเบิดกลางอากาศโดยถ่ายจากด้านล่าง"
ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 และให้เครดิตภาพกับ "จิโอคัลเด" ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างชื่อและนามสกุลของจอร์จิโอ คัลเดราโต
ในปี 2565 คัลเดราโตกล่าวกับ AFP ว่า ภาพเฮลิคอปเตอร์ระเบิดนั้น "ไม่ใช่ภาพจริง" หลังภาพดังกล่าวถูกแชร์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ในอินเดีย เขากล่าวว่า "ผมตัดต่อภาพดังกล่าวด้วยโปรแกรมโฟโตช็อป"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพเฮลิคอปเตอร์ที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกตัดต่อและปรากฏในเว็บไซต์ iStock (ขวา):

นอกจากนี้ สีของเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีไรซีที่ประสบเหตุ ไม่ตรงกันกับสีของเฮลิคอปเตอร์ที่ปรากฏในภาพตัดต่อ
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าวสาธารณรัฐอิสลาม (IRNA) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายนี้ ซึ่งเป็นภาพเฮลิคอปเตอร์คือรุ่น Bell 212 ที่ประธานาธิบไรซีโดยสาร โดยเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวมีสีขาวที่ลำตัวและหางสีน้ำเงินเข้ม
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพเฮลิคอปเตอร์ที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับภาพเฮลิคอปเตอร์ของไรซีที่ IRNA เผยแพร่ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่แตกต่างกัน:

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 โดยสามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา