ฝนเทียมไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในดูไบ นักวิทยาศาสตร์ระบุ
- เผยแพร่ วัน 11 มิถุนายน 2024 เวลา 08:49
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Charlotte STEENACKERS, AFP เนเธอร์แลนด์, AFP ฮ่องกง, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าในเดือนเมษายน 2567 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีฝนตกหนักทุบสถิติ โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือภาวะโลกร้อน ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ว่าน้ำท่วมในดูไบเพราะการทำฝนเทียมผิดพลาด นอกจากนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ยืนยันกับ AFP ว่าในช่วงที่เกิดเหตุน้ำท่วม ไม่ได้มีการทำฝนเทียมแต่อย่างใด
"เปิดเผยแล้ว สาเหตุที่ ดูไบ เผชิญพายุฝนกระหน่ำหนัก เกิดน้ำท่วมทั่วเมืองสร้างความเสียหายมหาศาล ... ไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ เป็นฝีมือมนุษย์" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567
คำบรรยายเดียวกันนี้ระบุต่อว่า "เพราะความที่เป็นประเทศร้อนถึงระดับ 50 องศาเซลเซียส รัฐบาลดูไบจึงใช้วิธีทำฝนเทียม แต่ครั้งนี้คงจะใช้สารเคมีและปฏิบัติการมากเกินไป ฝนที่ตกลงมาในดูไบใน 1 วันเท่ากับฝนตกหนักตลอด 2 ปี"
"บทเรียนนี้คือ การทำฝนเทียมยังต้องอาศัยความรู้และผู้ชำนาญการ มีประสบการณ์ (เช่นโครงการฝนหลวงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙)"
นอกจากนี้ ยังพบโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันในภาษาไทย เช่น ที่ นี่ และ นี่
การทำฝนเทียมเป็นกรรมวิธีที่ใช้เครื่องบินยิงสารซิลเวอร์ไอโอไดด์เพื่อกระตุ้นให้เกิดเม็ดฝนตกลงมา
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งที่สุดในโลก และได้ใช้เครื่องบินในการทำฝนเทียมมาเป็นเวลาหลายปี
ในเดือนเมษายน 2567 เหตุน้ำท่วมใหญ่ในกลุ่มประเทศค้าน้ำมัน ส่งผลให้ประเทศโอมานมีผู้เสียชีวิต 21 และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บ้านเรือน ถนน และห้างสรรพสินค้า ถูกน้ำท่วม ขณะที่สนามบินดูไบต้องยกเลิกเที่ยวบินมากกว่า 2,000 เที่ยว หลังเผชิญกับฝนตกหนักที่สุดในรอบ 75 ปี
ในเวยป๋อ (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ของจีน มีการใช้แฮชแท็ก "ฝนเทียมทำให้เกิดน้ำท่วมในดูไบ" ซึ่งมีผู้รับชมมากกว่า 3 ล้านครั้ง ในขณะเดียวกัน ก็มีโพสต์ในภาษาอื่น ๆ ที่อ้างว่าน้ำท่วมในดูไบนั้นเกิดจากการทำฝนเทียม เช่น โพสต์ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน กรีก ดัตช์ และ เกาหลี
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ว่า "ไม่ได้มีการทำฝนเทียมในช่วงที่เกิดน้ำท่วมดังกล่าว"
ด้านนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชี้แจงว่า ภาวะโลกร้อนถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้มีความรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ
'เข้าใจผิด'
ฟรีเดอริก อ็อตโต นักอุตุนิยมวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน และหัวหน้าร่วมของกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (World Weather Attribution หรือ WWA) ระบุว่า คำกล่าวอ้างว่าฝนเทียมเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในดูไบนั้นเป็นการทำให้เกิดความ "เข้าใจผิด"
"ฝนตกหนักที่สุดในดูไบในรอบ 75 ปีไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการทำฝนเทียม" เธอกล่าวกับ AFP "เมื่อเราพูดถึงฝนตกหนักนั้น เราต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้มีปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศถี่ขึ้น และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นมาก
ชั้นบรรยากาศที่อุ่นขึ้นจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมได้
งานวิจัยของ WWA ที่รวบรวมข้อมูลโดยนักวิจัยนานาชาติ 21 คน พบว่าภาวะโลกร้อน "มีแนวโน้มสูง" ที่จะทำให้เหตุฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน (ลิงก์บันทึก)
WWA ยังระบุว่า ในภูมิภาคดังกล่าวมีฝนตกมากขึ้นถึง 10-40 เปอร์เซนต์ ในช่วงปีที่มีเอลนีโญ (ปรากฏการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกหนักมากขึ้นในบางพื้นที่ของโลก) (ลิงก์บันทึก)
WWA กล่าวเสริมว่า การทำฝนเทียมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเหตุฝนตกหนักในเดือนเมษายน 2567
"เมื่อพิจารณาจากพายุที่มีขนาดมหึมา ก็จะเกิดฝนตกหนักอยู่ดีไม่ว่าจะมีการทำฝนเทียมหรือไม่ก็ตาม" รายงานระบุ
โรเอลอฟ เบอร์เกอร์ ศาสตราจารย์สาขาภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์ของแอฟริกาใต้ กล่าวว่า "ไม่น่าเป็นไปได้" ที่ฝนที่ตกลงมาจะเกิดจากการทำฝนเทียมด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก
"นี่เป็นเหตุการณ์ที่ฝนตกรุนแรงมาก และไม่มีความจำเป็นต้องทำฝนเทียมเลย" เขากล่าวกับ AFP
เขากล่าวเสริมว่าพายุครั้งดังกล่าวเป็น "พายุฝนขนาดมหึมา" ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบแค่ในดูไบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ อย่างโอมาน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบียด้วย
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา