โพสต์เท็จแชร์ภาพนักข่าวชาวอิตาลีและอ้างว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุลอบยิงทรัมป์

เหตุลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยในรัฐรัฐเพนซิลเวเนีย กลายเป็นชนวนจุดกระแสข้อมูลเท็จระลอกใหม่ในโลกออนไลน์ โดยโพสต์จำนวนมากได้แชร์ภาพของชายคนหนึ่งและอ้างว่า เขาเป็นมือปืนผู้ก่อเหตุชื่อ "มาร์ค ไวโอเล็ตส์" อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ชายคนดังกล่าวคือนักข่าวกีฬาชาวอิตาลีชื่อมาร์โค วิโอลี นอกจากนี้ ตำรวจสอบสวนกลางของสหรัฐฯ ระบุว่าผู้ก่อเหตุลอบยิงทรัมป์ชื่อโธมัส แมทธิว ครูกส์

"อัพเดทเพิ่มเติม Mark Violets มือปืนที่ระบุว่าเป็นคนลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยในเพนซิลเวเนีย ที่ถูกกำจัดแล้ว เขาเป็นกลุ่มพวกหัวรุนแรง ANTIFA" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของชายคนหนึ่งที่สวมเสื้อกันหนาว แว่นกันแดดและหมวกคลุมหัว ในท่ากอดอก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ ในภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่ และในภาษาเยอรมัน  ฝรั่งเศส  เปอร์เซีย  สเปน และ อินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ผู้ก่อเหตุได้เปิดฉากยิงระหว่างการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ทรัมป์บาดเจ็บที่ใบหู ผู้เข้าร่วมการปราศรัย 1 คนเสียชีวิต และผู้เข้าร่วมอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนมือปืนที่ก่อเหตุถูกทีมสไนเปอร์ของหน่วยสืบราชการลับยิงเสียชีวิต

สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ (FBI) ระบุว่า ครูกส์ในวัย 20 ปีเป็นผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุดังกล่าว ไม่ใช่ชายชื่อ "มาร์ค ไวโอเล็ตส์" ตามที่อ้างกันในโลกออนไลน์ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายใบขับขี่ของ โธมัส แมทธิว ครูกส์ ผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุลอบยิงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (AFP / HANDOUT)

การค้นหาภาพย้อนหลัง พบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพถ่ายของนักข่าวกีฬาชาวอิตาลีชื่อ มาร์โค วิโอลี (Marco Violi) โดยเขาเป็นเจ้าของบล็อกชื่อ โรมา จิอัลโลรอสซา (Roma Giallorossa) และปรากฏในช่องยูทูปอยู่บ่อยครั้ง (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของมาร์โค วิโอลีที่ปรากฏในช่องยูทูบของโรมา จิอัลโลรอสซา ทีวี (Roma Giallorossa TV)

วิโอลียืนยันในแถลงการณ์ทางอินสตาแกรมว่า เขาคือชายในภาพที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างนี้ และระบุว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามลอบสังหารทรัมป์ (ลิงก์บันทึก)

"ผมอยู่ในอิตาลี ผมอยู่ในกรุงโรม และผมก็ไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย" เขากล่าวในแถลงการณ์ที่ระบุเป็นภาษาอิตาลี

"ข่าวที่แพร่สะพัดเกี่ยวกับผมนั้นไม่มีมูลความจริงเลย มันถูกสร้างโดยกลุ่มผู้เกลียดชังที่ทำลายชีวิตผมตั้งแต่ปี 2561 มีแม้กระทั่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ แถวบ้านผม แอบถ่ายภาพอินเตอร์คอมและประตูหน้าบ้านผมด้วย"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของแถลงการณ์ที่มาร์โค วิโอลีเผยแพร่ทางบัญชีอินสตาแกรมของเขา

วิโอลีกล่าวว่าเขาวางแผนจะร้องเรียนต่อบัญชี X ที่เผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จ และขอร้องให้ทุกคน "เลิกยุ่งกับเขา"

"ในฐานะที่ผมเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ปี 2549 ผมรู้ดีว่าเราจำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนจะโจมตีผู้ต้องสงสัยที่ปรากฏอยู่ในข่าวหน้าหนึ่ง" เขากล่าว

เอฟบีไอกำลังสืบสวนแรงจูงใจของครูกส์ที่ทำให้เขาก่อเหตุลอบสังหารทรัมป์ สื่อรายงานว่าปรากฏชื่อของครูกส์ลงทะเบียนในฐานข้อมูลผู้ลงคะแนนของพรรครีพับลิกัน และเขามีประวัติบริจาคเงินให้กับคณะทำงานทางการเมืองหัวก้าวหน้ามาก่อน

กลุ่มแอนติฟา (Antifa) ซึ่งเป็นแนวร่วมอย่างหลวม ๆ ของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจัดที่ต่อต้านฟาสซิสต์ มักถูกโจมตีโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุของความไม่สงบ และยังถูกอ้างถึงในทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพยายามลอบสังหารทรัมป์ที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา