ไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างว่า 'กมลาชนะในรัฐที่ไม่ต้องแสดงบัตรประชาชนก่อนเลือกตั้ง'
- เผยแพร่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2024 เวลา 05:12
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Nahiara S. ALONSO, Roxana ROMERO, AFP สหรัฐอเมริกา
- แปลและดัดแปลง โดย Daniel GALGANO , Pasika KHERNAMNUOY
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"สำเนาตรงเป๊ะ รัฐที่คามาลาชนะคือรัฐที่ไม่จำเป็นต้องแสดงบัตรประชาชนตอนเลือกตั้ง" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่ายหน้าจอผลการลงคะแนนของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ประกอบกับภาพกราฟิกแบ่งเขตรัฐที่บังคับใช้กฏหมายยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยเว็บไซต์แบลลอตพีเดีย
รูปภาพและคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันยังถูกแชร์ในภาษาต่าง ๆ รวมถึง ภาษาอังกฤษ สเปน และเยอรมัน
นอกจากนี้ ยังมีโพสต์เท็จในอีกหลายภาษาที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าวพร้อมกับภาพกราฟิกของช่องข่าวนิวส์แม็กซ์ในสหรัฐฯ เช่น ภาษาไทยที่นี่ และนี่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อิตาเลียน และกรีก (ลิงก์บันทึก)
กฎหมายการแสดงเอกสารยืนยันตัวตนยังคงเป็นข้อถกเถียงระหว่างสมาชิกรัฐสภาในสหรัฐฯ ที่เห็นต่างกันว่าการแสดงเอกสารยืนยันตัวตนสามารถป้องกันการโกงเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากการบังคับใช้กฏหมายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ยากกว่าเดิม
ผลสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ระบุว่า ชาวอเมริกันราวร้อยละ 80 ขึ้นไป เห็นด้วยกับการกำหนดให้แสดงเอกสารยืนยันตัวตนแบบมีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ในการเลือกตั้ง (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างว่ากฎหมายการแสดงเอกสารยืนยันตัวตนมีความเชื่อมโยงกับผลการเลือกตั้งในรัฐต่าง ๆ นั้นเป็นเท็จ
"เธอไม่ได้ชนะเลือกตั้งในทุกรัฐที่ไม่ต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนแบบมีรูปถ่าย" ลิซา ไบรอัน ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเฟรสโนสเตรตในแคลิฟอร์เนีย กล่าวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งของกมลา แฮร์ริส ในอีเมลเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน (ลิงก์บันทึก)
AFP รายงานผลการนับคะแนนจาก 49 รัฐเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยอ้างอิงข้อมูลจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติของสหรัฐฯ ผลปรากฏว่าแฮร์ริสชนะเลือกตั้งใน 19 รัฐ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรัฐที่ประชาชนต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตน 7 รัฐ และยังชนะในเนแบรสกาเขต 2 ซึ่งมีข้อบังคับเดียวกัน และในดิสตริกต์ออฟโคลัมเบียซึ่งไม่มีข้อบังคับนี้ (ลิงก์บันทึก)
จากทั้งหมด 30 รัฐที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง มี 28 รัฐที่มีข้อบังคับเรื่องการแสดงเอกสารยืนยันตัวตน นอกจากนี้ทรัมป์ยังชนะในรัฐเพนซิลเวเนีย ไอโอวา และเมนเขต 2 ซึ่งไม่มีข้อบังคับดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
แบร์รี เบอร์เดน ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เห็นด้วยว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐของรีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะมีข้อบังคับที่เข้มงวดกว่า (ลิงก์บันทึก)
"ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้สมัครจากเดโมแครตอย่างแฮร์ริสจะทำคะแนนได้ดีกว่าใน 'รัฐสีน้ำเงิน' (รัฐที่เป็นฐานคะแนนของเดโมแครต) ซึ่งเป็นรัฐที่ฝ่ายกำหนดนโยบายมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการบังคับใช้เอกสารยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด" เขากล่าวในอีเมลเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน
กระบวนการยืนยันตัวตนโดยเจ้าหน้าที่
รูธ กรีนวูด ผู้อำนวยการโครงการกฎหมายการเลือกตั้ง โรงเรียนกฎหมายฮาร์เวิร์ด กล่าวว่ารัฐบัญญัติของสหรัฐฯ ระบุว่าทุกรัฐจะต้องให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งยืนยันตัวตนในขั้นตอนการลงทะเบียน (ลิงก์บันทึก)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการเลือกตั้ง (Help America Vote Act) ปี 2545 กำหนดให้ทุกรัฐต้องตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนของพลเมืองว่าเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริง (ลิงก์บันทึก)
บางรัฐบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดโดยกำหนดให้แสดงเอกสารยืนยันตัวตนแบบมีภาพถ่ายเท่านั้น ในขณะที่บางรัฐกำหนดให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งพิสูจน์ตัวตนของผู้มาใช้สิทธิโดยการตรวจสอบลายเซ็น
"ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนใช้สิทธิจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจเอกสารยืนยันตัวตนที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นการตรวจใบขับขี่ เลขประกันสังคม หรือทะเบียนบ้าน" กรีนวูดระบุผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน
"ในทุกรัฐจะมีข้อบังคับในการพิสูจน์ตัวตนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยขั้นต่ำคือการยืนยันตัวตนด้วยลายเซ็น"
ในบางรัฐเช่นมินนิโซตาและแคลิฟอร์เนีย ประชาชนสามารถลงทะเบียนในวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะขอเอกสารยืนยันตัวตนก่อนออกบัตรเลือกตั้งให้ ขณะที่นิวแฮมป์เชอร์และโรดไอแลนด์ซึ่งเป็นรัฐที่แฮร์ริสชนะ มีข้อกำหนดว่าต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตนก่อนเลือกตั้ง (ลิงก์บันทึกที่นี่นี่ และนี่)
อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับประเด็นเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา