ภาพชั้นใต้ดินของโรงอุปรากรซิดนีย์เป็นภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- เผยแพร่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2024 เวลา 09:56
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Masroor GILANI, AFP ปากีสถาน, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"Sydney opera house ...หลายๆอาคารในโลก ใต้ดิน อลังการมากค่ะ ฝ่ายมืดเค้าสร้างไว้สำหรับ กลุ่ม Elit ชนชั้นสูง ดารา นักการเมือง (โลกใต้ดิน มันคือ สวรรค์)" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของโรงอุปรากรซิดนีย์ แลนด์มาร์กสำคัญของประเทศออสเตรเลีย และพื้นที่ชั้นใต้ดินลงไปอีก 8 ชั้น รวมถึงชั้นล่างสุดที่มีลักษณะคล้ายท่าเรือ
ภาพนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางรายแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่าพวกเขาเชื่อว่าโรงอุปรากรซิดนีย์มีชั้นใต้ดินเหล่านี้จริง
"สวรรค์ บนดิน จริงเลย ขอบคุณ ภาพ ที่หาดู ไม่ได้ ที่ใดเลย!" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็น
"นั่นคือสัญลักษณ์ความงามของเราในซิดนีย์ครับ" อีกความคิดเห็นระบุ
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง ภาพดังกล่าวที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้เป็นภาพที่สร้างด้วยเอไอ
'ภาพปลอม'
โฆษกของโรงอุปรากรซิดนีย์ยืนยันกับ AFP ว่าภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์นั้นไม่ใช่ภาพจริง
"ภาพที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นภาพที่สร้างโดยเอไอ ไม่ใช่ภาพถ่าย ภาพวาด หรือภาพจำลองของโรงอุปรากรซิดนีย์แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้หรือเหนือพื้นดินก็ตาม" เธอระบุในอีเมลเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567
การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพเดียวกันถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 โดยบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Synthograpy Art" ซึ่งมักจะแชร์ภาพแลนด์มาร์กต่าง ๆ ที่สร้างด้วยเอไอ (ลิงก์บันทึก)
บัญชีดังกล่าวยังแชร์ภาพอื่น ๆ โดยระบุว่าเป็นภาพชั้นใต้ดินของสถานที่สำคัญอย่างเซ็นทรัลพาร์กในนิวยอร์ก และป้ายฮอลลีวูดในลอสแองเจลิส (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
Synthograpy Art ระบุในเว็บไซต์ว่าเป็น "แหล่งรวบรวมภาพที่สร้างจากเอไอ" (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก Synthography Art (ขวา):
ไม่เหมือนสถานที่จริง
ภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโพสต์เท็จนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากภาพของโรงอุปรากรซิดนีย์ที่ปรากฏในแผนที่กูเกิล (ลิงก์บันทึก)
โรงอุปรากรซิดนีย์ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ทรงกลม และไม่ได้มีสนามหญ้าหรือต้นไม้ล้อมรอบตัวอาคารอย่างที่ปรากฏในภาพที่สร้างจากเอไอ
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพโรงอุปรากรซิดนีย์ในแผนที่กูเกิล (ขวา):
สำนักข่าว AAP ของออสเตรเลียได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างนี้ด้วยเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)
อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับภาพที่สร้างด้วยเอไอได้ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา