บุคลากรแพทย์แสดงกล่องบรรจุภัณฑ์ของยาไอเวอร์เม็คติน ในเมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ( AFP / LUIS ROBAYO)

ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็คติน ยังไม่ผ่านการอนุมัติว่าให้ใช้รักษาโรคโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 4 กรกฎาคม 2021 เวลา 19:27
  • อัพเดตแล้ว วัน 5 กรกฎาคม 2021 เวลา 13:42
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ทั่วโลกเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน คำกล่าวอ้างหนึ่งถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศว่า ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็คติน (ivermectin) สามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 การวิจัยและการศึกษายังอยู่ในระยะเบื้องต้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและหน่วยงานสาธารณสุขเตือนว่ายังไม่มีหลักฐานแน่นอนที่สรุปได้ว่ายาไอเวอร์เม็คตินสามารถใช้รักษาโรคโควิด-19

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า:

“ผลการวิจัยยา Ivermectin ในการรักษา ไวรัสโควิด-19 ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการใน American Journal of Therapeutic แล้วนะครับ และผลของการวิจัยก็คือ:
1. Ivermectin สามารถลดจำนวนคนตายจากโควิด-19 ได้ 62%.
2. Ivermectin สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ 86% ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนทำได้เลย.
3. ต้นทุนการผลิต Ivermectin ในอินเดียอยู่ที่ $2.90 ต่อ 100 เม็ด (ขนาดเม็ดละ 12-mg) หรือ เม็ดละ 90 สตางค์ หรือ 4.50 บาท ต่อการรักษา 1 ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 (วันละเม็ด เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน.
4. มีใครอยากที่จะฉีดวัคซีนอีกมั้ยครับ?”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ไอเวอร์เม็คติน (ivermectin) เป็นยาสำหรับการรักษาพยาธิหลากหลายชนิด องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติการใช้ยาเม็ดไอเวอร์เม็คตินสำหรับการรักษาพยาธิตัวตืด ในขณะที่ไอเวอร์เม็คตินชนิดครีมและโลชั่นได้รับการอนุมัติเพื่อใช้รักษาเหาและโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

คำกล่าวอ้างที่โฆษณาว่ายาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็คตินมีสรรพคุณในการรักษาโควิด-19 ได้ถูกแชร์ออนไลน์ในประเทศไทยที่นี่ นี่ และทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงบราซิล ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้

ในประเทศแถบละตินอเมริกา ความนิยมของยาไอเวอร์เม็คตินพุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มต้นมาจากโพสต์ออนไลน์ที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของยาชนิดดังกล่าว ท่ามกลางการเร่งหาวิธีรักษาโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วกว่า 3.9 ล้านคน จากฐานข้อมูลของสำนักข่าว AFP

ในเดือนพฤษภาคม 2564 รัฐบาลโบลิเวียได้ประกาศอนุมัติการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แม้จะยอมรับว่า “ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน” ที่สนับสนุนว่ายาชนิดดังกล่าวสามารถนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้จริง

อย่างไรก็ตาม ณ เดือนมิถุนายน 2564 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ออกมากล่าวว่า ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอเพื่อสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินในการป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ จากกรณีที่มีข่าวการใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็คตินกับผู้ป่วยโรคโควิด-19

เนื้อหาบางส่วนในเอกสารดังกล่าวเขียนว่า: “กรณีข้อมูลที่แชร์ทางสื่อออนไลน์ว่า ใช้ยาไอเวอร์เม็คติน รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย. เผย ยาไอเวอร์เม็คติน เป็นยาฆ่าพยาธิที่ใช้ในสัตว์ และมีตำรับที่ใช้ในมนุษย์สำหรับรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย ข้อมูล ขณะนี้ทั่วโลกยังไม่อนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 มีเพียงการใช้ในขั้นตอนของการศึกษาทางคลินิก ยังต้องมีการประเมินประสิทธิภาพที่แท้จริง”

“โดยสรุปยาไอเวอร์เม็คติน ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษาจึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

Aileen Espina สมาชิกของสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพต่อต้านโควิด-19 องค์กรไม่แสวงผลกำไรของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศฟิลิิปปินส์ อธิบายกับ AFP ว่าไม่มีหลักวิทยาศาสตร์สนับสนุนคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว

“ไอเวอร์เม็คตินไม่ได้เป็นยาต้านไวรัส ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากการวิเคราะห์เชิงอภิมานเห็นตรงกันว่าคุณภาพของหลักฐานที่แสดงว่าไอเวอร์เม็คตินสามารถช่วยกับโควิด-19 นั้นมีน้อย” Espina กล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

“สำหรับการนำมาใช้ในวงกว้าง จนถึงการแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแทนวัคซีน สำหรับฉันเรื่องนี้ถือว่าอันตรายมาก”

แถลงการณ์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 กล่าวว่ายังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแนะนำการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินเพื่อรักษาโควิด-19

การศึกษาทางคลินิกได้รายงานถึงประโยชน์ เช่นอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงในผู้ป่วยที่ได้รับยาไอเวอร์เม็กติน เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (placebo) ในขณะที่การทดลองอื่นๆ “ไม่ได้แสดงว่าการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินเป็นผลดีหรือทำให้อาการแย่ลง”

“ณ ปัจจุบัน งานวิจัยส่วนใหญ่มีข้อมูลไม่ครบและยังมีข้อจำกัดด้านระเบียบวิธี” แถลงการณ์ของ NIH กล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา