คำแนะนำเท็จเรื่องการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 31 พฤษภาคม 2021 เวลา 07:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 2,000 ครั้ง
คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “6 สิ่งที่ควรทำก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19”
โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายแนะนำเรื่องวิธีการป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายข้อ
“ควรงดกาแฟก่อนการไปฉีดวัคซีน”
“การฉีดวัคซีน Astra สิ่งที่ควรทานก่อนไปฉีด คือ Fish Oil (EPA เด่นเกิน 60%) 1-2 อาทิตย์ ก่อนไปฉีดวัคซีน เพราะว่าผลข้างเคียงของ Astra คือ การที่มีลิ่มเลือด เพราะว่าการที่ทาน Fish Oil ช่วยตรงนี้ได้”
นอกจากนี้โพสต์ดังกล่าวยังแนะนำ ให้งดยาไมเกรน นอนหลับให้เพียงพอ และแนะนำให้ดื่มน้ำให้มากก่อนไปฉีดวัคซีน โดยโพสต์ดังกล่าวแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนในช่วงเช้า
คำบรรยายโพสต์ระบุว่าคนท้องและคนเป็นไข้ไม่ควรไปฉีด ขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งควร “ควรทาน Flaxseed” และ “Chelated Magnesium 1-2 อาทิตย์ก่อนไปฉีด ทานวันละ 200 mg”
“ควรทานนัตโตะ (ถั่วเน่าญี่ปุ่น) 1 ถ้วยก่อนไปฉีด ควรทานตอนเช้า เพราะนัตโตะมี Nattokinase เป็นเอนไซม์ที่มีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ลดภาวะหลอดเลือดอุดตัน”
ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 3.3 ล้านโดส ซึ่งรวมไปถึงวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนก้าและซิโนแวค
ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 ประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ในหลายประเทศได้สั่งระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนก้าชั่วคราว หลังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการก่อตัวของลิ่มเลือดในบุคคลที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยง
คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
ดื่มกาแฟ
คำกล่าวอ้างนี้มีที่มาจากกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นกับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อซิโนแวคในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าพบอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งรวมไปถึงอาการใจสั่น จากการฉีดวัคซีนซิโนแวคกว่า 150 ราย จากการฉีดวัคซีน พร้อมระบุว่าอาการเหล่านี้ หายเป็นปกติภายในวันนั้นทั้งหมด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่าไม่มีเหตุผลสนับสนุนคำกล่าวอ้างเรื่องการงดดื่มกาแฟก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
“ผลค้างเคียงของซิโนแวคอาจจะเกิดอาการใจสั่น แต่ดื่มกาแฟได้ไม่เป็นไร คนที่ดื่มกาแฟจะรู้ปริมาณที่ตนดื่มได้โดยไม่เกิดอาการใจสั่น”
ข้อมูลจากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศอังกฤษระบุว่า สำหรับคนส่วนใหญ่การดื่มกาแฟวันละ 4-5 แก้วจะไม่ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
อาหารเสริม - น้ำมันปลา
นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่าคำแนะนำเรื่องการการทานอาหารเสริมน้ำปลาก่อนรับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนก้านั้น “ไม่เป็นความจริง”
เขากล่าวว่า “ไม่จริง น้ำมันปลาสามารถช่วยปกป้องเส้นเลือดได้ แต่ในระยะยาว ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า fish oil สามารถป้องกันผลข้างเคียง [ของวัคซีน]”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ระบุว่าน้ำมันปลาจะสามารถลดผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19”
สตรีมีครรภ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนโควิด-19
หน่วยงานนานาชาติอย่างศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่าสตรีมีครรภ์มีโอกาสแสดงอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าวัคซีนโควิด-19 มีอันตรายต่อการตั้งครรภ์ไปแล้วที่นี่
ผู้ป่วยที่เป็นไข้
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ไม่ได้แนะนำว่าคนที่มี “อาการป่วยอ่อนๆ” ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19
เนื้อหาบางส่วนของเอกสารดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยสามารถรับการฉีดวัคซีนได้”
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำปัจจุบันระบุว่า กรณีผู้ที่มีอาการ “เจ็บป่วยเฉียบพลันระดับปานกลางหรือรุนแรง” ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า “ถ้ารู้สึกไม่สบาย แนะนำให้เลื่อนนัดไปก่อน ให้หาสาเหตุว่าตนเองเป็นอะไร”
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ผู้เชี่ยวชาญได้ออกคำแนะนำว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับสิทธิ์การฉีดวัคซีนสูง ตามข้อมูลของ National Comprehensive Cancer Network หรือ NCCN องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ สำหรับศูนย์มะเร็งต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) หรือได้รับการบำบัดด้วย CAR T-cell หรือผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อนอย่างน้อย 3 เดือนหลังการรักษาสิ้นสุดลง
เนื่องจากความแตกต่างของอาการในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ว่าควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่
แมกนีเซียมและนัตโตะ(ถั่วเน่าญี่ปุ่น)
นพ.ธีระอธิบายว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้” และ “ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ว่าการทานแมกนีเซียมจะช่วยป้องกันผลค้างเคียงของวัคซีนได้
ไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างว่าการกินนัตโตะ หรือว่าถั่วเน่าญี่ปุ่น จะสามารถป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
แม้ว่าจะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของนัตโตไคเนส เอนไซม์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักถั่วนัตโตะ ว่าเอนไซม์ดังกล่าวมีสรรพคุณในการละลายลิ่มเลือด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19
ผลข้างเคียง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจะแตกต่างกันออกไปในในแต่ละคน
นพ.ธีระวัฒน์อธิบายว่า “วัคซีนเป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมในร่างกายของเรา และร่างกายจะสร้างกระบวนการอักเสบต่อต้าน ปฏิกิริยานี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล”
องค์การอนามัยโลกระบุว่าผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการฉีดวัคซีนคือ เจ็บแขน มีไข้ และอาการอ่อนเพลีย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา