แรงงานและสมาชิกครอบครัวเข้าแถวยืนรอด้านนอกสถานีขนส่ง Anand Vihar เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาขณะที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงนิวเดลี 28 มีนาคม 2563 (AFP / Bhuvan Bagga)

ภาพถ่ายของ AFP ที่แสดงแรงงานชาวอินเดียเดินทางออกจากกรุงเดลีถูกนำไปกล่าวอ้างว่า ‘ชาวเมียนมาร์หลบหนีมาไทยหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่’

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 22 กันยายน 2020 เวลา 09:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่าย 5 รูปได้ถูกแชร์นับพันครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพผู้คนหลบหนีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากประเทศเมียนมาร์มายังประเทศไทย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ สองภาพที่อยู่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดซึ่งเป็นภาพถ่ายของ AFP แสดงเหตุการณ์ที่แรงงานชาวอินเดียเดินทางออกจากกรุงเดลีระหว่างที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 ขณะที่ภาพอื่นในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของสื่อไทยเกี่ยวกับมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 และได้ถูกแชร์ออกไปอีกกว่า 1,500 ครั้ง

Image

คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ด่านแม่สอดแทบแตก​… พม่าข้ามฝั่งหนีตายหลบโควิด... ระบาดหนัก ใส่หน้ากากตวยเน้อ มันเป็น covid สายพันใหม่รุนแรง และเสียชีวิตเร็วมาก ป่านนี้ แถวแม่สายและในเมืองคงมีการแพร่ระบาดแล้ว พม่าปิดข่าวเท่าที่ทราบตอนนี้เลยท่าขี้เหล็ก 5,000คนแล้ว”

ภาพชุดเดียวกันถูกแชร์ออกไปพร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ภาพที่หนึ่งและสอง

ภาพแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนั้นเป็นภาพถ่ายของสำนักข่าว AFP ที่แสดงเหตุการณ์ขณะที่แรงงานจำนวนมหาศาลเข้าแถวรอรถที่สถานีขนส่ง Anand Vihar เพื่อเดินทางออกจากกรุงเดลี ท่ามกลางคำสั่งล็อคดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563

ภาพที่สองเป็นภาพจากเหตุการณ์เดียวกัน โดยข้อมูลระบุว่าภาพถ่าย AFP นี้ถูกถ่ายที่กรุงเดลีในวันและเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นภาพของแรงงานชาวอินเดียที่สถานีขนส่ง Anand Vihar

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (บน) และภาพของ AFP (ล่าง)

Image
เปรียบเทียบภาพแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (บน) และภาพของ AFP (ล่าง)

ภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดปรากฏอยู่ในโพสต์นี้ของครูคณิตศาสตร์ในกรุงเดลีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563

ภาพที่คล้ายกันที่สถานีขนส่ง Anand Vihar ได้ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์ของนักข่าวในกรุงนิวเดลีและปรากฏอยู่ในรายงานออนไลน์ฉบับนี้ของหนังสือพิมพ์ Times of India

ภาพถ่ายจากกรุงเดลี ถูกเผยแพร่ไม่กี่วันหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ออกคำสั่งล็อคดาวน์ทั่วประเทศ 21 วัน เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ อ่านสำนักข่าว AFP รายงานที่นี่

ภาพที่สามและสี่

ภาพที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในรายงานออนไลน์ฉบับนี้ของเว็บไซต์ข่าวสด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

Image

รายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เขียนพาดหัวว่า “พ่อเมืองประจวบฯ สั่งขึงลวดหนาม ชายแดนไทย-เมียนมา กันของผิดกฏหมาย-แรงงานเถื่อน”

ภาพที่สี่ถูกแชร์ผ่านทางเฟซบุ๊กโดยเพจของผู้สื่อข่าว วาสนา นาน่วม ในโพสต์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563

คำบรรยายของโพสต์เขียนบางส่วนว่า “สกัดแรงงานต่างด้าว!! ตรึงลวดหนามชายแดน”

“คุมเข้มชายแดน ด้าน เมียนมา-กัมพูชา สกัดกั้นแรงงานต่างด้าวเถื่อน เล็ดรอดเข้าไทย โดยไม่ผ่านคัดกรอง หวั่นนำเชื้อ COVID เข้ามา”

ภาพที่ห้า

ภาพที่ห้าปรากฏอยู่ในรายงานออนไลน์ฉบับนี้ของไทยรัฐ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563

Image

รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “แรงงานพม่าไม่ขออยู่ไทย นับหมื่นรอข้ามแดนแม่สอด วันสุดท้ายก่อนปิดด่าน”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา