เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตรียมเข็มฉีดยาวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนในพิพิธภัณฑ์ Humboldt Forum กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ( AFP / John MacDougall)

เอกสารไฟเซอร์ไม่ได้เผยถึงอันตรายของวัคซีนโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:32
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์และบทความออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โดยอ้างว่าเป็นชุดข้อมูลที่หลุดออกมาจากเอกสารลับของบริษัทผลิตยาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญอิสระกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ไม่ได้แสดงว่าวัคซีนโควิด-19 มีอันตรายหรือไร้ประสิทธิภาพ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: “อย.แพ้คดี! ไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน! ผลข้างเคียง 9 หน้า! ทั่วโลกตกตะลึง... เครือข่ายข้อมูล”

“รายงานนี้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร PHPMPT ฟ้อง FDA ในเขต Northern District of Texas เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยตั้งคำถามกับ FDA เรื่องการปกปิดข้อมูลจริงเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนครอบฟันชนิดใหม่ 2019 ต่อร่างกายมนุษย์จากบริษัทยา เช่น ไฟเซอร์!”

“นี่เป็นผลข้างเคียงของวัคซีนที่เผยแพร่ครั้งแรก! น่ากลัว!”

“จากการทดสอบ 46,000 คน 42,000 คนมีอาการไม่พึงประสงค์! เสียชีวิต 1200 ราย!”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด


คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์พร้อมแฮชแทก #pfizerdocuments (เอกสารไฟเซอร์) ทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายภาษา AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวในภาษาฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน โปรตุเกส ดัตช์ และเซอร์เบีย

ด้านล่างคือการตรวจสอบของ AFP เกี่ยวกับที่มาของเอกสารดังกล่าว และคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

“ไฟเซอร์เปิดเผยข้อมูล”

บนสื่อสังคมออนไลน์ “รายของไฟเซอร์” มักจะเป็นการกล่าวถึงข้อมูลที่ค่อยๆ นำมาเผยแพร่แต่สาธารณะโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและการแพทย์เพื่อความโปร่งใส (PHMPT) ได้ยื่นคำขอตามพ.ร.บ.เสรีภาพสารสนเทศ หรือ Freedom of Information Act (FOIA) ต่อ FDA ในเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อขอการเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทค

เบื้องต้น ทาง FDA กล่าวว่าจะเผยแพร่เอกสารชุดดังกล่าว 500 หน้าต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ทาง PHMPT มองว่าช้าเกินไปมาก เนื่องจากเอกสารทั้งหมดตามคำขอตามพ.ร.บ.เสรีภาพสารสนเทศ อยู่ที่ประมาณ 330,000 หน้า ในเดือนมกราคม ปี 2565 ผู้พิพากษาจากรัฐเท็กซัสได้ตัดสินว่า FDA ควรเผยแพร่เอกสาร “มากกว่า 12,000 หน้า” ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มกราคม จากนั้นค่อยเป็น “55,000 หน้าทุกๆ 30 วัน” ตั้งแต่หรือก่อนวันที่ 1 มีนาคม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคำพิพากษาของคดีเรื่องความโปร่งใสระหว่างกลุ่ม PHMPT กับ FDA เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565


ณ วันที่ 12 พฤษภาคม PHMPT ได้เผยแพร่เอกสารแล้วกว่า 238 ชุด โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้

ทั่วโลกมีคนที่รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเข็ม มากกว่า 5 พันล้านคน

หน่วยงานด้านสาธารณสุขเช่นองค์การอนามัยโลก ได้เฝ้าติดตามความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์อิสระจำนวนมาก และยืนยันว่าข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นว่าประโยชน์จากการฉีดวัคซีนสูงกว่าความเสี่ยง แม้ว่าจะมีคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดที่ถูกแชร์ออกมาเรื่อยๆ พร้อมกับการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว

“ผลข้างเคียงของวัคซีน”

โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ได้กล่าวถึงผลข้างเคียงอันตรายที่พบในเอกสารของไฟเซอร์

โพสต์นี้ทางเฟซบุ๊กกล่าวว่า “ไฟเซอร์ปล่อยเอกสารที่แสดงถึงผลข้างเคียงอันตรายต่อผู้บริโภควัคซีน”

ขณะที่อีกโพสต์เขียนว่า “ไฟเซอร์ปล่อยรายการผลข้างเคียง ไม่ใช่เรื่องตลก!”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด


อย่างไรก็ตาม Aurélie Grandvuillemin รองหัวหน้าศูนย์เภสัชกรรมประจำภูมิภาคเบอร์กันดี ประเทศฝรั่งเศส อธิบายกับ AFP ว่า “รายการนี้ไม่มีทางเป็นผลข้างเคียงที่มาจากรายงานเกี่ยวกับวัคซีนของไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทค”

รายการดังกล่าว ซึ่งถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกลุ่ม PHMPT ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ได้กล่าวถึง “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ” โดยอาการเหล่านี้จะต้องเข้าสู่การติดตามพิเศษ เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับวัคซีนชนิดก่อนๆ ด้วย

รายการดังกล่าวระบุถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ว่ามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ

ในประเทศแคนาดา รัฐบาลกำลังติดตาม myocarditis หรืออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ pericarditis หรือโรคเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ รัฐบาลแคนาดาแนะนำให้ฉีดวัคซีน และพบว่า “รายงานจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับ myocarditis และ pericarditis ภายหลังการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ในประชากรทั่วไป ทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หลังการฉีดเข็มที่สอง”

อย่างไรก็ตาม Glen Pyle ศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจระดับโมเลกุลที่มหาวิทยาลัย Guelph ของแคนาดา และ Jennifer Huang รองศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจในเด็กที่ Oregon Health and Science University ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในบทความทาง The Conversation ในเดือนมกราคม 2565 ว่า “ในกรณีของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประชากรส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงระดับต่ำและหายเองอย่างรวดเร็ว” พวกเขากล่าวว่าการติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะทำให้หัวใจได้รับความเสียหายสูงกว่าการฉีดวัคซีนมาก

AFP ได้ตรวจสอบรายการผลข้างเคียงดังกล่าว ที่ถูกแชร์ในภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน เซอร์เบีย และดัตช์

“เสียชีวิต 1,200 ราย”

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดอ้างว่า: “ จากการทดสอบ 46,000 คน 42,000 คนมีอาการไม่พึงประสงค์! เสียชีวิต 1200 ราย! ”

คำกล่าวอ้างที่ AFP ตรวจสอบไปแล้วในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ปรากฏอยู่ในบทความดังกล่าว โดยเป็นชุดข้อมูลเดียวกับเอกสารที่อ้างถึงผลข้างเคียงรุนแรง และไม่ได้เป็นชุดข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ใหม่

Dervila Keane โฆษกของบริษัทไฟเซอร์ ยืนยันกับ AFP ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1,223 ราย ถูกรวบรวมจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายประเทศ โดยไม่ได้มีการยืนยันสาเหตุการเสียชีวิต ตัวเลขดังกล่าว และไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิต และตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะรวมผู้ที่ตายจาก “หลายโรค” เช่นมะเร็งหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เธอกล่าว

Alison Hunt โฆษกของ FDA กล่าวด้วยว่าผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะต้องรายงานการเสียชีวิตภายหลังการรับวัคซีน แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าเสียชีวิตจากวัคซีนหรือไม่

“การตรวจสอบโดย FDA และ CDC ระบุว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่ที่รายงานไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัคซีน” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า รายงานการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ในอัตราที่ “ต่ำ”

AFP รวบรวมการตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดและรายงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไว้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา