พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตใส่อุปกรณ์ป้องกัน ท่ามกลางความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ในกรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563
(AFP / Lillian Suwanrumpha)

ภาพเก่าของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาถูกนำมาแชร์ออนไลน์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาร์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 7 เมษายน 2021 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายนี้ได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และฟอรัมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงผู้หญิงชาวโรฮิงญาที่ถูกฆ่าระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ปี 2564 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพนี้ถูกเผยแพร่มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2560 ในโพสต์ออนไลน์ที่ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารเมียนมาร์

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 900 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “พรากแม่ลูกสังเวยสังหาร อธรรมเถื่อนโชว์ สุคติเถิดแม่โอ้ สงสารลูกน้อยนองน้ำตา ? พม่ามิดสัญญี เสียใจกับท่านผู้สูญเสีย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ถูกแชร์ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐประหารของกองทัพในประเทศเมียนมาร์ อ่านรายงานของสำนักข่าว AFP ได้ที่นี่

ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 จากสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ในประเทศเมียนมาร์ ระบุว่าการปราบปรามผู้ประท้วงของกองทัพเมียนมาร์ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 543 คน

คอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนเข้าใจบริบทของภาพผิด

มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียนคอมเมนต์ว่า “เผด็จการทหารสารเลว”

ภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่ และบนเว็บไซต์นี้

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ: ภาพถ่ายนี้ถูกแชร์มาแล้ว 4 ปีก่อนการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์

การค้นหาด้วยคำสำคัญทางเฟซบุ๊ก พบภาพดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2560 โดยเพจชุมชนโรฮิงญา (Rohinya Community)

คำบรรยายภาพของโพสต์ปี 2560 เขียนว่า “ผู้หญิงมุสลิมชาว #โรฮิงญา เป็นลมหมดแรงหลังการเดินทางจากอาระกันไปยังบังคลาเทศเป็นระยะเวลา 13 วัน ขณะที่ลูกของเธอเอื้อมไปหาแม่เพื่อกินนม”

ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนีมายังค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศบังคลาเทศ หลังจากที่กองทัพเมียนมาร์ขับไล่พวกเขาออกไปจากรัฐยะไข่ทางภาคเหนือของประเทศในปี 2560 AFP รายงาน

องค์กรสหประชาชาติอธิบายว่าการกระทำของเมียนมาร์ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพของเพจ Rohinya Community ในปี 2560 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพของเพจ Rohinya Community ในปี 2560 (ขวา)

ภาพถ่ายเดียวกันถูกนักข่าวคนหนึ่ง นำไปแชร์ทางทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2560 พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวภาษาโปแลนด์ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เกี่ยวกับปฎิบัติการของกองทัพเมียนมาร์ต่อชาวโรฮิงญาในปี 2560

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา