บุคลากรทางการแพทย์ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ( AFP / Lillian SUWANRUMPHA)

โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในไทยแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “สเปรย์พ่นคอ”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 29 กรกฎาคม 2021 เวลา 05:35
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยกำลังรับมือกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนกรกฏาคม โพสต์หลายโพสต์ในเฟซบุ๊กแชร์คำกล่าวอ้างว่าสเปรย์พ่นคอชนิดหนึ่งสามารถ “ลดและยับยั้งเชื้อโควิด-19” คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายว่าสเปรย์พ่นคอยังไม่ได้รับการพิสจน์ว่าสามารถรักษาหรือบรรเทาโรคโควิด-19 นอกจากนี้ โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าวยังแชร์คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับวิธีการรักษาอาการในบ้านที่ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายไปแล้วว่าไม่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 15,000 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า “ก่อนที่ไวรัสจะเข้าปอดมันจะอยู่ในลำคอ 4 วัน ในช่วงเวลานี้คอจะมีอาการเช่น 1. คันคอ 2. คอแห้ง 3. อาการไอเจ็บคอ 4. อุณหภูมิขั้นสูง 5. ระบบทางเดินหายใจอ่อนแอ 6. สูญเสียรสชาติ”

“ในช่วงเวลานี้ได้ ปรุงมะนาว น้ำส้มสายชู เกลือ แอลกอฮอล์สูง ผสมน้ำอุ่นและล้างคอบ่อยๆ ควรดื่มน้ำอุ่นจัดให้มากเพื่อป้องกัน หรือใช้ยาพ่นคอโปรพอลิส ช่วยลดและยับยั้งเชื้อ”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โปรพอลิส” หมายถึงสารจากรังผึ้งที่มีผลในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา

สเปรย์พ่นคอที่มีสารสกัดดังกล่าว มีจำหน่ายทั่วไปในประเทศไทยภายใต้ชื่อ "Propoliz" ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ ถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าว AFP รายงาน

คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านอธิบายว่าคำกล่าวอ้างนี้ ทำให้เข้าใจผิด

สเปรย์พ่นคอ

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม ว่า “ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ (สเปรย์พ่นคอโปรโพลิส) เพื่อรักษาโรคโควิด-19”

“อาจจะต้องมีการวิจัยทางคลินิกมากกว่านี้”

แม้ว่ามีการมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโปรพอลิสในการต้านโควิด-19 แต่งานวิจัยเหล่านั้นใช้กลุ่มตัวอย่าง (Sample Size) ขนาดเล็ก นพ.ธีระ กล่าว

“เราอาจต้องระวังในกรณีที่เคลมสรรพคุณต้านโควิด-19” นพ.ธีระ กล่าว

คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าสเปรย์พ่นคอโปรพอลิสสามารถใช้กับโควิด-19 ได้นั้นเป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่ “เกินจริง” ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม

“โปรพอลิสเป็นสารที่อยู่ในรังผึ้ง ไม่มีฤทธิ์สูงพอที่จะรักษาโรคโควิด-19”

การรักษาที่บ้าน

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเรื่องการป้องกันโควิด-19 ด้วยการกลั้วคอ การดื่มน้ำอุ่น หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ไปแล้วก่อนหน้านี้

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “หากคุณมีอาการใด ๆ ที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือสายด่วนโควิด-19 เพื่อขอคำแนะนำและเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ให้กักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันห่างจากผู้อื่น และให้สังเกตอาการและสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ”

“ถ้ามีอาการหายใจลำบาก เจ็บหรือแน่นหน้าอก ให้พบแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที”

ไม่มีหลักฐาน

สำหรับคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าจะอยู่ในลำคอเป็นเวลาสี่วัน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม ว่าเรื่องนี้ “ไม่มีหลักฐานยืนยัน”

”ความรุนแรงของอาการในแต่ละคนแตกต่างกันตามการตอบสนองต่อการติดเชื้อที่แตกต่างกัน” เขาบอกกับ AFP

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา