แพทย์เตรียมฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าสำหรับผู้ป่วยวอล์กอินในคลินิกโควิด-19 นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ( AFP / Saeed KHAN)

วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีส่วนผสมของกราฟีน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 24 สิงหาคม 2021 เวลา 04:56
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Taylor THOMPSON-FULLER, AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอที่แสดงสารชนิดหนึ่งตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าในจานเพาะเชื้อ ได้ถูกแชร์ในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าสารดังกล่าวคือกราฟีนซึ่งสามารถพบได้ในวัคซีนโควิด-19 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอต้นฉบับเป็นการทดลองใช้ลูกเหล็กและน้ำมันละหุ่งโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ากราฟีนหรือกราฟีนออกไซด์ไม่ได้เป็นส่วนผสมของวัคซีนโควิด-19

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงวัตถุทรงกลมขนาดเล็กในจานเพาะเชื้อ ที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นกิ่งก้าน เมื่อมีการใส่กระแสไฟฟ้าเข้าไป

คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า “กราฟีนออกไซด์พบได้ในวัคซีน”

“คำเตือน สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนของ SATAN”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

กราฟีน คือสารที่เกิดจากการเรียงตัวของอะตอมคาร์บอนเพียงชั้นเดียวในรูปแบบโครงสร้างหกเหลี่ยม เมื่อนำมาวางทับกัน ชั้นของกราฟีนจะก่อตัวเป็นวัสดุที่เป็นส่วนหนึ่งของแกรไฟต์ ซึ่งพบได้ทั่วไปในบริเวณปลายดินสอ

คลิปวิดีโอดังกล่าวได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

วิดีโอต้นฉบับถูกโพสต์ลงยูทูปโดย Stanford Complexity Group สโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ยุบตัวลงในปี 2561 โดยวิดีโอดังกล่าวเป็นการทดลองที่ใช้ลูกเหล็ก (ball bearings) และน้ำมันละหุ่ง (castor oil) ในจานเพาะเชื้อ

โฆษกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่าโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ตีความเนื้อหาของวิดีโอดังกล่าวคลาดเคลื่อน

“วิดีโอต้นฉบับของชมรม ไม่ได้แสดงการวิจัยที่เป็นเอกลักษณ์ แต่เป็นการจำลองการสาธิตของ Alfred Hubler โดยการใช้ลูกเหล็ก ไม่ใช่อนุภาคกราฟีนขนาดจิ๋วอย่างที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์” โฆษกกล่าว

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว ผู้บรรยายอธิบายว่าการทดลองเริ่มจากการใส่น้ำมันละหุ่งและลูกเหล็กลงไปในจานเพาะเชื้อ ซึ่งมีวงแหวนเหล็กที่มีกระแสไฟฟ้าขั้วลบครอบขอบจาน ขณะที่ตะกั่วซึ่งเชื่อมกับหม้อแปลงไฟฟ้าถูกแขวนอยู่เหนือจาน

หลังเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้า ลูกเหล็ก ซึ่งในตอนแรกรวมตัวกันอยู่ตรงกลาง เริ่มเชื่อมกันเหมือนลูกโซ่และค่อยๆ กระจายไปสู่ขอบจาน ซึ่งในช่วงนี้ภาพจะตรงกับคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดทางสื่อสังคมออนไลน์

คลิปวิดีโอการสาธิตต้นฉบับของศาสตรจารย์ Alfred Hubler ถูกเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับบนยูทูป (ขวา):

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับบนยูทูป (ขวา)

คลิปวิดีโอของสโมสรมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่าลูกบอลกลมๆ ในจานเป็นวัสดุที่ทำมาจากเหล็กทั่วไป และไม่ได้มีการกล่าวถึงสารกราฟีนแต่อย่างใด โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลหลายแห่ง (ที่นี่ นี่และนี่)

กราฟีนในวัคซีนโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีส่วนผสมของกราฟีนหรือกราฟีนออกไซด์

Dr. Park Jong-bo นักวิจัยจากบริษัท Biographene บริษัทพัฒนายาที่ผลิตมาจากกราฟีน อธิายกับสำนักข่าว AFP ว่า “ไม่มีวัคซีนชนิดไหนในตลาดที่ผลิตมาจากกราฟีนออกไซต์”

ศาสตราจารย์ Hong Byung-hee ผู้ช่วยชาญด้านวัสดุนาโนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลอธิบายว่า คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าวัคซีนที่จำหน่ายทั่วไป มีส่วนผสมของกราฟีนออกไซต์นั้นไม่ถูกต้อง

“กราฟีนกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการใช้ในวัคซีน แต่การใช้งานเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่จะได้รับการอนุญาตให้ใช้เชิงพาณิชย์ ภายหลังการทดลองทางคลินิก” เขากล่าวกับ AFP

องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่เอกสารที่แสดงถึงส่วนผสมของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) แจนเซ่น (Janssen) โมเดอร์นา (Moderna) ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซิโนแวค (Sinovac) แคนซิโน (CanSino) อันฮุย จื้อเฟย (Anhui Zhifei) สปุตนิค (Sputnik) ของรัสเซีย และภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ของอินเดีย โดยแสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลกไม่มีมีส่วนผสมของกราฟีนหรือกราฟีนออกไซด์

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับกราฟีนและวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วก่อนหน้านี้ที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา