พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม สวมชุด PPE ก่อนลงพื้นที่ชุมชนเพื่อตรวจโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุง ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ในข้อความลูกโซ่ที่เตือนเรื่อง “การระบาด” ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาในประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 26 สิงหาคม 2021 เวลา 07:39
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ข้อความชุดหนึ่งได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ กล่าวว่าแพทย์ท่านหนึ่งได้เตือนให้ประชาชนกักตัวในบ้าน หลังพบระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2564 กรมควบคุมโรคของไทยกล่าวว่ายังไม่มีการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ขณะที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลชี้แจงว่าคำเตือนดังกล่าวไม่ได้มาจากคณบดีของโรงพยาบาล

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564

ข้อความบางส่วนในโพสต์เขียนว่า “ด่วน ด่วน ด่วน อจ.หมอประสิทธิ์ ออกประกาศให้ ปชช ล๊อคดาวน์ครอบครัว ระบาดหนัก หมอจะเอาไม่อยู่แล้ว ฟังแล้วแชร์ออกกันมากๆ หน่อย”

“เหตุเกิดที่มีนบุรี น่าจะเป็นสายพันธุ์แลมบ์ดากำลังระบาด อาการไอเป็นเลือด แล้วเสียชีวิตเลย”

อ.หมอประสิทธิ์ หมายถึงศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ก่อนหน้านี้ชื่อของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ถูกนำไปใช้ในคำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายหน้าจอของข้อความที่ถูกส่งต่อทางไลน์ หนึ่งในแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทวีปเอเชีย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ในเดือนมิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้สายพันธุ์แลมบ์ดาเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจและเฝ้าระวัง (a variant of interest)

ตั้งแต่การตรวจพบครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2563 ในประเทศเปรู สายพันธุ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปสู่กว่า 40 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลของ GISAID โครงการริเริ่มวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศที่รวมรวมข้อมูลโรคระบาด

คำเตือนเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ และทางไลน์

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

กรมควบคุมโรคยืนยันว่ายังไม่มีการพบการระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ดาในประเทศไทย

“มาตราการการตรวจสอบของเราเพื่อหาว่าโควิด-19 ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์อะไร” นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564

“ยังไม่มีรายงานว่าพบการระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ดาในประเทศไทย หรือในประเทศเพื่อนบ้าน” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว

จากข้อมูลที่รวบรวมโดย GISAID ประเทศไทยไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อประเทศที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอแผนที่ประเทศที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา บนเว็บไซต์ของ GISAID

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยปฏิเสธข้อความที่อ้างว่าหมอประสิทธิ์ได้เตือนการระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ดา

“จากที่มีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่าหมอประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคณบดีศิริราช ได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง และครอบครัว เพราะตอนนี้พบสายพันธุ์แลมบ์ดา กำลังระบาดในเขตมีนบุรี และขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเองนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ”

“ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยมีการส่งคลิปเสียงในประเด็นเดียวกันหลายครั้งแล้ว โดยขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวทั้งในรูปแบบข้อความ และคลิปเสียง ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแต่อย่างใด”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา