คลิปวิดีโอแชร์คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงในเด็กเมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 12 มกราคม 2022 เวลา 10:46
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Juliette MANSOUR, Marine PENNETIER, Claire SAVAGE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
โรเบิร์ต มาโลน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนประเภท mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ในช่วงปลายทศวรรษ ค.ศ. 1980 อธิบายว่าตัวเขาเองเป็นผู้คิดค้นวัคซีนประเภท mRNA อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายสิบปี
วิดีโอดังกล่าว -- ซึ่งมียอดรับมากกว่า 500,000 ครั้งใน Rumble มากกว่า 110,000 ครั้งใน 3Speak และปรากฏอยู่บนบัญชีทวิตเตอร์ของมาโลน ซึ่งได้ถูกแชร์ออกไปในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อจากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายที่สุดในปัจจุบัน
คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในประเทศไทยทางเฟซบุ๊ก ในเดือนธันวาคม 2564 ที่นี่และนี่ และในเดือนมกราคม 2565 ที่นี่และนี่
วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้งานฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ถึง 11 ปี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 และสำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 15 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2564
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้เด็กที่มีอายุมากกว่า 5 ขวบ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยย้ำว่าภูมิต้านทานนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองบางกลุ่มยังตกเป็นเหยื่อของข้อมูลบิดเบือนที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19
ในรายงานฉบับนี้ AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างสามข้อที่กล่าวโดยมาโลนในคลิปวิดีโอดังกล่าว
คำกล่าวอ้าง: โปรตีนตรงหนาม (spike protein) ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA เป็นพิษ
ในคลิปวิดีโอ มาโลนระบุว่าโปรตีนตรงส่วนหนามเป็นอันตรายและเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
“ยีนของไวรัสจะถูกฉีด... ยีนนี้จะบังคับให้ร่างกายของเด็กสร้างโปรตีนส่วนหนามที่เป็นพิษ หลายครั้งที่โปรตีนเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างถาวรต่ออวัยวะที่สำคัญของเด็กเหล่านี้” เขากล่าว
Paul Offit แพทย์โรคติดเชื้อและผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวัคซีนที่โรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาอธิบายว่าคำกล่าวอ้างนี้ “เป็นเท็จ”
“ไม่มีหลักฐาน (ยืนยันเรื่องนี้) ทั้งจากการทดลองในสัตว์หรือมนุษย์” เขากล่าว
Deborah Greenhouse แพทย์ประจำบ้านของสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน เห็นด้วยกับ Offit โดยเธอกล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานชุดไหนที่ยืนยันว่าโปรตีนหนามที่เกิดจากการตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 เป็นพิษ”
วัคซีนประเภท messenger Ribonucleic Acid หรือ mRNA ทำงานโดยการนำเอาต้นแบบของโปรตีนหนามของเชื้อโควิด- 19 ซึ่งเป็นส่วนของไวรัสที่ร่างกายเราสามารถจดจำและต่อกรกับไวรัสได้ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อภายหลังการรับวัคซีน
วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์และโมเดอร์นา ถือเป็นวัคซีนยี่ห้อแรกที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ซึ่งมีความแตกต่างจากวัคซีนดั้งเดิม และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายผ่านการสัมผัสกับไวรัสในสภาพที่อ่อนแอเหรอเชื้อที่ตายไปแล้ว
Greenhouse อธิบายว่า: “โปรตีนส่วนหนามเป็นส่วนที่เป้าหมายสำคัญของวัคซีน เนื่องจากมันต่างจากโปรตีนส่วนอื่นๆ ที่ร่างกายของมนุษย์สามารถผลิตได้ ระบบภูมิคุ้มกันของเราสามารถรับรู้ได้ว่าโปรตีนตัวนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม และทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนองต่อมัน ยังไม่มีหลักฐานว่าโปรตีนหนามจะคงสภาพในร่างกายของเรานานกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ ทั่วไป และไม่มีหลักฐานด้วยว่าโปรตีนตัวนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและอวัยวะ”
ในเดือน พฤษภาคม 2564 AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าโปรตีนหนามอันตราย หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโปรตีนส่วนหนามในวัคซีนโควิด-19 ปลอดภัยเพราะมันจะคงสภาพอยู่ในกล้ามเนื้อแขนเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
Alexandra Yonts แพทย์โรคติดเชื้อในเด็ก โพยาบาลเด็กแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าโปรตีนหนามที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นพิษ ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม”
ผู้คนหลายล้านทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA และเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัยภายหลังการฉีดวัคซีนที่รัดกุม “ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนเป็นพิษในตัวเลขระดับมวลรวม” เธอกล่าว
คำกล่าวอ้าง: โปรตีนหนามมักจะทำให้เกิดความเสียหายถาวรต่ออวัยวะที่สำคัญของเด็ก
มาโลนกล่าวว่าโปรตีนหนามที่เกิดขึ้นจากวัคซีนโควิด-19 มักจะทำให้เกิดความเสียหายถาวรต่ออวัยวะของเด็กเช่นที่ “สมอง ระบบประสาท หัวใจและเส้นเลือด ซึ่งรวมไปถึงอาการหลอดเลือดอุดตัน ระบบสืบพันธุ์ และที่สำคัญวัคซีนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย”
คำกล่าวอ้างว่าวัคซีนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นเป็นเรื่องจริง Yonts ยืนยัน พร้อมระบุว่า “นั่นคือเป้าหมายของการฉีดวัคซีนนั้นแหละ”
“วัคซีนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำโปรตีนหนามและปกป้องเราจากโรคดังกล่าว” เธออธิบาย
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างส่วนที่เหลือของมาโลนไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน
“ไม่มีหลักฐานเลยว่าโปรตีนหนามสามารถสร้างความเสียหายถาวรต่ออวัยวะสำคัญของเด็ก” Greenhouse กล่าว
มีรายงานว่าเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นน้อยภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มชายหนุ่มที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocarditis)หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งเป็นภาวะอักเสบที่หัวใจหรือบริเวณโดยรอบ
อย่างไรก็ตาม Yonts และ Offit ต่างอธิบายว่า ในกรณีสภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แต่จะเป็นอาการชั่วคราวและ ไม่ได้สร้างความเสียหายถาวรตามที่มาโลนกล่าว
“กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือ myocarditis เป็นภาวะที่เกิดจากวัคซีน mRNA อย่างชัดเจน แต่เกิดขึ้นได้ยากมาก” Offit กล่าว อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการ “ระยะสั้น ชั่วคราว และสามารถคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง”
ทั้ง Offit และ Yonts ชี้ว่าข้อมูลแสดงให้เห็นว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากโปรตีนหนาม ตามที่มาโลนกล่าว
นอกจากนี้ Yonts ยังกล่าวเสริมอีกว่า นักวิทยาศาสตร์ยังคงกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าภาวะดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากโปรตีนหนามจากวัคซีนโควิด-19
เธออธิบายเพิ่มว่าข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิด-19 สามารถทำให้เกิดอาการที่มาโลนกล่าวถึง แต่ไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีนประเภท mRNA
คำกล่าวอ้าง: ไม่มีประโยชน์ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็ก
มาโลนกล่าวว่า “โดยสรุป ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับลูกของคุณ หรือครอบครัวของคุณในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็ก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงเล็กๆ ของไวรัส... การวิเคราะห์เทียบความเสี่ยง-ประโยชน์ ของการฉีดวัคซีนในเด็กนั้นไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย”
แพทย์ทั้งสามคนที่ AFP สอบถามล้วนปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ทุกคน
“ในทางทฤษฎี ความเสี่ยงของวัคซีนโควิด-19 นั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ของมันซึ่งมีมากกว่า” Greenhouse กล่าว
“มีเด็กที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และยังมีอีกนับหมื่นๆ คนที่ต้องเข้ารักษาอาการในโรงพยาบาล ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยของฉันคนหนึ่งต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจากอาการที่ป่วยหนักของโรคโควิด-19” เธอกล่าว
“มีการพบว่าวัคซีนนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป” Greenhouse อธิบายพร้อมกล่าวเพิ่มว่า “อัตราส่วนระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงจากข้อมูลที่ปรากฏจนถึงตอนนี้ ยังคงสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 11 ปี อย่างชัดเจน”
Yonts ย้ำด้วยว่า “การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็ก มีประโยชน์อย่างแน่นอน”
แม้ว่าโดยรวมแล้วเด็กจะไม่ได้มีความเสี่ยงจากส่วนที่เลวร้ายที่สุดของโรคโควิด-19 แต่โรคดังกล่าวก็มีผลกระทบต่อเด็กและมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จริง เธอกล่าว
Offit กล่าวว่าในช่วงเวลาอาทิตย์ครึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลเด็กในเมืองฟิลาเดลเฟียมีเด็กที่เข้ารักษาอาการป่วยจากโรคดังกล่าว และในจำนวนนี้ “มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ต้องรักษาในห้องไอซียู”
สิ่งที่พบได้เหมือนกันในเด็กเหล่านี้คือพวกเขาและสมาชิกครอบครัวยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้เด็กทุกคนมีอายุเข้าเกณฑ์ที่จะสามารถรับวัคซีนได้แล้ว ยกเว้นเด็กคนเดียวที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ
“เด็กเหล่านี้ล้มป่วย” Offit กล่าว “และโรงพยาบาลก็กลายเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน”
“ทำให้เข้าใจผิดและอันตราย”
Offit อธิบายว่าวิดีโอของมาโลนนั้นอันตรายและไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน
เขาอธิบายเพิ่มว่า “ถ้าใครเชื่อคำพูดของชายคนนี้จริงๆ ก็จะทำให้ตัวเองหรือลูกของเขาตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง”
Greenhouse บอกว่าเธอมองว่าวิดีโอดังกล่าวนั้น “ทำให้เข้าใจผิดและอันตราย” และเป็น “ข้อมูลที่ผิด”
“คนที่ไม่มีภูมิหลังทางการแพทย์จะเชื่อคำกล่าวอ้างต่างๆ ในวิดีโอ เพราะว่ามาโลนมีลักษณะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีความรู้ ผลคือผู้ปกครองหลายคนจะตัดสินใจไม่ให้ลูกเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยมีข้อมูลที่ผิดชุดนี้เป็นสาเหตุ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงสำคัญมากสำหรับเราที่จะส่งต่อข้อมูลที่อ้างอิงจากหลักฐาน และผ่านข้อมูลที่ได้รับการศึกษามาแล้ว” เธอกล่าว
Yonts บอกว่าจุดยืนโดยรวมของเธอคือ “(คำกล่าวอ้างในวิดีโอนี้) ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล และฉันคิดว่ามันเป็นการออกมาพูดแบบนี้ถือว่าขาดความรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้มีอะไรมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเขาเลย”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ไม่แม่นยำเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กว่า 1,200 หัวข้อที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา