ภาพสแกนปอดจากปี 2563 ถูกตีความผิดว่าเป็นภาพเปรียบเทียบปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2021 เวลา 09:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพหนึ่งได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพคอมพิวเตอร์ที่เปรียบเทียบปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีน คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แท้จริงแล้ว ภาพนี้แสดงสแกนปอดจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดาที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึงวัคซีน งานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่หลายเดือนก่อนที่ทั่วโลกจะเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19

ภาพดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 500 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ไวรัสเริ่มต้นจากทำให้เกิดการอักเสบโพรงจมูก ลำคอ ถ้าร่างกายแข็งแรง/มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน หากลงสู่ปอดบ้าง แต่ปอดยังจัดการได้ ”

“แต่รายที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน+มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง หัวใจ ปอด เชื้อที่ลงสู่ปอด ปอดจัดการควบคุมเชื้อไม่ได้จึงเกิดการอักเสบ”

ข้อความภาษาไทยที่ด้านบนของภาพ ระบุว่าภาพด้านซ้ายคือ “ภาพคอมพิวเตอร์ปอดในคนที่ติดโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีน” ขณะที่ภาพด้านขวาคือปอดของคนที่ “ไม่ฉีดวัคซีน”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์นี้ถูกแชร์ออนไลน์ ขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สาม

ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมมากว่า 116,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 678 ราย

จากข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 2.2 ล้านโดส

ภาพดังกล่าวได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวคล้ายๆ กัน ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพเดียวกับถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ของ Richmond News เว็บไซต์ข่าวในประเทศแคนาดา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอรายงานข่าวของ Richmond News

คำบรรยายภาพเขียนว่า “นักวิจัยและรังสีแพทย์พร้อมกับโรงพยาบาลแวนคูเวอร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และสถาบันวิจัยสุขภาพชายฝั่งแวนคูเวอร์ ร่วมเป็นกำลังหลักในการผลักดันการศึกษาระดับนานาชาติ ที่มุ่งใช้การสแกน CT เพื่อคาดการณ์การกระจายตัวของโรคโควิด-19”

ภาพเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่า ถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้เป็นเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย

บทความดังกล่าวมีชื่อว่า “การพยากรณ์โรคโควิด-19 ด้วยการสแกน CT”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (ขวา)

ภาพนี้ถูกเผยแพร่ในบทความออนไลน์เป็นเวลาอย่างน้อย 7 เดือน ก่อนจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ในเดือนธันวาคม 2563

สำนักข่าว AFP รายงานว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงในช่วงกลางเดือนมีนาคม โดยการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปคาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน AFP รายงาน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา