
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนเรื่องการใช้ซิงค์เพื่อรักษาไวรัสโควิด-19
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 13:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอความยาว 3:04 นาที ได้ถูกโพสต์ลงยูทูป เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยช่องยูทูปที่มีชื่อว่า “อย่าฝากชีวิต ไว้กับหมอ”
คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า “3 สิ่งที่ใช้ในการลดเชื้อไวรัสในช่องคอ”

ในช่วงวินาทีที่ 10 หมออรรถกล่าวว่า “จริงๆ พอเวลาที่เราติดโควิดมาเนี่ย มันเข้ามาทางจมูก ทางช่องคอของเราก่อนอยู่แล้ว”
“ก่อนที่มันลงไปปอดเนี่ย มันต้องอยู่ที่ช่องคอเรา เพราะฉะนั้นเนี่ย วิธีที่เราป้องกันไม่ให้มันเป็นหนักคือ เราต้องลดปริมาณเชื้อในช่องคอก่อน”
ต่อมาในช่วงวินาทีที่ 33 หมออรรถพูดว่า “จริงๆ แล้วตัวสังกะสีเนี่ย มันจะมีทั้งรูปแบบกิน แล้วก็รูปแบบอม แต่ว่าที่หมอจะให้ลดปริมาณเชื้อในช่องคอเนี่ย หมอแนะนำให้รูปแบบอม ซิงค์เนี่ยออกฤทธิ์ในเรื่องของการช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้ และก็สามารถลดการแบ่งตัวของไวรัสได้ด้วย ในการทดลองเนี่ยสมมติว่าเราเลี้ยงไวรัสในการทดลอง เราลองหยดซิงค์ลงไปสินะครับ เวลาหยดซิงค์ลงไปไวรัสจะตายเลย ซิงค์เนี่ยอย่างที่บอกมีฤทธิ์ในการลดการแบ่งตัวของไวรัสด้วย”
“ทีนี้ถ้าเราไปหาซิงค์แบบเม็ดอม รสชาติมันก็จะไม่ดี คำแนะนำคือ เราก็ต้องหายาอมอย่างอื่นมากินคู่กันด้วย”
นอกจากช่องยูทูปแล้ว เพจดังกล่าวยังมีเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 370,000 คน
เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเขียนคำอธิบายว่า “ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพราะชีวิตเป็นของคุณ อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ”
“ปัจจุบันคุณหมออรรถทำงานด้านการรักษามะเร็งแบบผสมผสาน อยู่กับ Dr.Thomas Lodi ที่ Lifeco Phuket จ. ภูเก็ต”
คลิปวิดีโอที่สั้นกว่าถูกโพสต์ลงเพจ อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 และมียอดรับชมแล้วมากกว่า 10,000 ครั้ง
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออนไลน์ ในขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมมากว่า 165,462 คน
คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่า คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
วิธีการรักษาที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์
ข้อมูลของ WebMD วารสารด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ เขียนอธิบายว่า ซิงค์หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง โดยร่างกายเราสามารถรับซิงค์ -- ซึ่งมีความจำเป็นต่อสุขภาพที่ดี -- จากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อแดง สัตว์ปีก และปลา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันกับ AFP ว่า “ไม่มีข้อมูลชัดเจนที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้ซิงค์เพื่อรักษาโควิด-19 เราไม่แนะนำให้ใช้ซิงค์เกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรรับต่อวัน”
“การใช้อะไรมากเกินไปมักจะเกิดปัญหา” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐฯ ระบุว่าปริมาณซิงค์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่นั้นไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาอาหารเคมีและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเช่นกันว่า “ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าสามารถใช้ซิงค์เพื่อรักษาไวรัสได้”
ดร.บดินทร์ อธิบายเพิ่มว่า “คนปกติ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินซิงค์เพิ่ม”
Ian Jones ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัยรีดดิ้งแห่งสหราชอาณาจักร อธิบายกับ AFP ว่า “ซิงค์คือโลหะที่เป็นพิษ และแม้ว่ามันจะมีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ของไวรัสบางชนิดได้จริง แต่ร่างกายเราไม่สามารถรับซิงค์ในระดับดังกล่าวได้”
อย่างไรก็ตาม นายเเพทย์ อรรถสิทธิ์ ศักดิ์สุธาพร หรือ “หมออรรถ” ได้อธิบายกับ AFP ว่าเขายังยืนยันที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างในคลิปวิดีโอดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเขา
หมออรรถ อธิบายว่า: “ซิงค์ นั้นสามารถนำมาใช้เพื่อลดจำนวนไวรัสได้จริงนะครับ ในกรณีของโควิด-19 แน่นอนเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรง แต่สิ่งที่ผมทำคือเป็นการนำวิธีการที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงกับไวรัสโคโรน่าชนิดอื่นๆ ในอดีต”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 ที่นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา