นี่เป็นภาพถ่ายที่แสดงเทวรูปจากพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูในปี 2562 และไม่เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 09:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ภาพถ่ายชุดหนึ่งได้ถูกแชร์เป็นพันๆ ครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายแสดงรูปปั้นเทพเจ้าที่ชาวอินเดียถูกทิ้งลงแม่น้ำเนื่องจากพวกเขาไม่พอใจที่เทพเจ้าไม่สามารถปกป้องประชาชนจากโรคโควิด-19 ได้ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในปี 2557 และปี 2562 ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นภาพการนำเทวรูปมาลอยน้ำในพิธีกรรมทางศาสนา

 

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 8,900 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “สื่ออินเดียรายงานว่า ชาวอินเดีย โยนรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ ทิ้งลงในแม่น้ำจนเป็นขยะแน่นแม่น้ำ เพราะพวกเขา ไม่พอใจ ไม่ศรัทธา ที่เทพเจ้าเหล่านี้ไม่สามารถปกป้องพวกเขา จากโรคร้ายได้ แต่ประเทศไทย เรายังกราบไหว้ สิ่งเหล่านี้อยู่.!”

Image

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด 

ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ประเทศอินเดียมีผู้ป่วยสะสมมากว่า 27,894,800 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 325,972 ราย

ทางการอินเดียได้เริ่มคลายมาตรการลอกดาวน์อย่างช้าๆ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ภายหลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื่อใหม่ในเมืองใหญ่เริ่มลดลง สำนักข่าว AFP รายงาน

ภาพถ่ายชุดเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ภาพถ่ายทั้งสี่ภาพนี้ ไม่เกี่ยวกับสภาวะวิกฤติทางสาธารณสุขที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอินเดีย

ภาพที่หนึ่ง

การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพที่หนึ่งถูกเผยแพร่ในรายงานของ Fact Hunt เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในอินเดีย โดยเป็นภาพถ่ายในเดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่แสดงรูปปั้นนับพันที่ถูกประชาชนนำมาตั้งไว้บนทางเท้า ภาพนี้ถูกทวีตโดย Vejay Nehra ที่ปรึกษาเทศบาลเมืองอัห์มดาบาด เมืองใหญ่อันดับ 6 ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐคุชราต ของประเทศอินเดีย

ในทวีตดังกล่าว Vejay แสดงความดีใจที่ประชาชนท้องถิ่นไม่ได้นำเทวรูปลงน้ำในช่วงเทศกาลบูชาเทพธิดา Dashama โดยผู้นับถือศาสนาฮินดูจะร่วมเทศกาลบูชาเทพธิดาองค์ดังกล่าว ตามความเชื่อทางทางศาสนาเป็นเวลา 10 วัน

คำบรรยายในทวีตดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “บางสิ่งที่น่าอัศจรรย์เกิดขึ้นแล้ววันนี้ใน#อัห์มดาบาด ประชาชนธรรมดาได้ตัดสินใจที่จะช่วยรักษาความสะอาดแก่แม่น้ำ#สพาร์มตี แทนที่จะนำรูปปั้น Dashama ไปลอยน้ำ พวกเขาเลือกที่จะวางไว้ที่ริมน้ำแทน เป็นพันๆ เลย ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่าเชื่อ”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากทวิตเตอร์ของ Vijay Nehra (ขวา):

Image

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากทวิตเตอร์ของ Vijay Nehra (ขวา) 

Vijay เขียนในอีกโพสต์หนึ่งว่าศาลากลางอัห์มดาบาด ได้ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า “SwacchSabarmati” เพื่อรักษาความสะอาดภายในเมือง

ภาพที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพถ่ายเดียวกัน ถูกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของ NationTV สื่อท้องถิ่นของประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557

Image

ภาพถ่ายหน้าจอรายงานของ Nation TV 

รายงานบนเว็บไซต์ของ NationTV เขียนพาดหัวว่า “พิธี “พระพิฆเนศ” ลอยน้ำ” ขณะที่คำบรรยายภาพเขียนว่า “พิธีพระพิฆเนศลอยน้ำ แห่จากลานเซ็นทรัลเวิล์ดไปลอยที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำสวนนาคราภิรมย์ (ใกล้ท่าเตียน)”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากโพสต์ของ NationTV (ขวา):

Image

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากโพสต์ของ NationTV (ขวา) 

ภาพที่สาม

การค้นหาย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพที่สาม ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ในเดือนตุลาคม 2562 ของ India Times เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ โดยรายงานเขียนพาดหัวที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “รัฐบาลประกาศห้ามนำเทวรูปลงแม่น้ำคงคาและแควน้ำใกล้เคียง ผู้ฝ่าฝืนระวางโทษปรับ 50,000 รูปี”

Image

ภาพถ่ายหน้าจอรายงานของ India Times 

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ India Times (ขวา):

Image

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ India Times (ขวา) 

ภาพที่สี่

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพที่สี่ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ของ The Economic Times ของประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562

Image

ภาพถ่ายหน้าจอรายงานของ The Economic Times 

โดยรายงานเขียนพาดหัวที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ปรับ 50,000 รูปี สำหรับการนำเทวรูปลงแม่น้ำคงคาและแควน้ำใกล้เคียง”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ The Economic Times (ขวา):

Image

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ The Economic Times (ขวา) 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา