
“คำเตือน” ปลอมถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสไปรษณีย์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 12 มกราคม 2564 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อความดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564

ข้อความในภาพเขียนว่า “คำเตือนจากสำนักงานไปรษณีย์ ขอให้ทุกท่านที่ได้รับไปรษณีย์ไม่ว่าจะเป็นจาก mail box ที่ไปรษณีย์หรือที่ตู้ไปรษณีย์ที่บ้านเราก็ตาม หากได้นับจดหมายหรือพัสดุไปรษณีย์ควรที่แยกใส่ถึงไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนที่จะเปิดออกมาอ่าน หรือจะฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำเข้าบ้าน เพราะว่ามีคนได้รับเชื้อ Covid-19 นี้แล้ว และขอยืนยันว่าเป็นพาหะได้ ขอให้ส่งต่อ ไปให้กับคนที่ท่านรู้จักด้วย”
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “รบกวนอ่านกันค่ะ..(เจ้าหน้าที่ก็กลัวค่ะ เราไม่สามารถทำได้ขนาดนั้นเพราะมันเยอะมาก ขอความเห็นใจค่ะ รบกวนส่งที่บ้านกันก่อนนะคะ ขอบคุณมากๆที่เห็นใจเจ้าหน้าที่)”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์เป็นคลิปบันทึกเสียงความยาว 35 วินาทีทางไลน์
คำเตือนดังกล่าวถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ไปรษณีย์ไทยยืนยันกับ AFP ว่าไม่ได้เป็นผู้ออกคำเตือนดังกล่าว
นาย กาหลง ทรัพย์สอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานปฏิบัตริการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย อธิบายกับ AFP ว่าทางบริษัทไปรษณีย์ไทย “ไม่ได้ออกคำเตือน”
“เราไม่ได้เป็นคนออก [คำเตือน] นี้” เขากล่าวทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564
แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนว่า “ไปรษณีย์ไทย เตือนผู้ใช้บริการอย่าหลงเชื่อข้อมูลปลอม ให้ระวังพัสดุไปรษณีย์มีเชื้อ COVID-19 ไม่จริง”
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 โดยระบุว่า “ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขการติดเชื้อ [โควิด-19] ที่มีต้นเหตุมาจากการสัมผัสไปรษณีย์อย่างไรก็ตามเวลาเราไปจับพัสดุ มันเป็นการปฏิบัติสุขอนามัยทั่วไปที่ เราควรต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเพื่อเป็นการป้องกันโรคโควิด-19”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา