ภาพการประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาร์ถูกตัดต่อ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 12:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
รูปภาพหนึ่งได้ถูกแชร์หลายพันครั้งทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าผู้ประท้วงชาวเมียนมาร์ถือป้ายประท้วงที่เขียนว่า “ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย” ภาพนี้ถูกแชร์ออนไลน์หลังกองทัพเมียนมาร์ก่อรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกตัดต่อ ภาพต้นฉบับแสดงป้ายประท้วงรัฐประหารที่ไม่มีการกล่าวอ้างถึงประเทศไทย

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 1,300 ครั้ง

Image
Screenshot of the misleading Facebook post, taken on February 9, 2021


ภาพดังกล่าวแสดงบุคลากรด้านสาธารณสุข ชูสามนิ้วพร้อมป้ายประท้วงที่มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า “ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย อยู่อย่างไร้อนาคต”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ป้ายชาวพม่า ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทยอยู่อย่างไรอนาคต จริงของเขา”

ภาพนี้ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะที่ประชาชนนับแสนทั่วประเทศเมียนมาร์ ได้ออกมาประท้วงต่อต้านทกองทัพเมียนมาร์ซึ่งได้จับกุมนาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ภายหลังการรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าว AFP รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่นี่

ภาพเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่ พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

อย่างไรก็ตามภาพนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบ ภาพต้นฉบับถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ของข่าวสด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

ภาพดังกล่าวแสดงบุคลากรทางแพทย์ถือป้ายประท้วงที่เขียนข้อความภาษาพม่า โดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “เราต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพต่อรัฐบาลของประชาชน”

รายงานของข่าวสดเขียนพาดหัวว่า “ชาวเมียนมา อารยะขัดขืน ตีหม้อ-บีบแตร สนั่นเมือง ต่อต้านกองทัพหลังยึดอำนาจ”

Image
Screenshot of the original photo on Khaosod's report, taken on February 9, 2021


เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “ในขณะเดียวกันบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐของเมียนมา ได้ออกมาขู่ว่าพวกเขาจะหยุดงาน เพื่อเป็นการแสดงถึงจุดยืนและประท้วงรัฐบาลทหาร”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของข่าวสด (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของข่าวสด (ขวา)


ภาพอื่นๆ เกี่ยวกับการประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์ที่แสดงข้อความป้ายประท้วงเป็นภาษาพม่าได้ถูกเผยแพร่ในโพสต์ทวิตเตอร์นี้ของ The Irrawaddy สื่อภาษาอังกฤษในประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
 


โพสต์ดังกล่าวทางทวิตเตอร์เขียนว่า “บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลศัลยกรรมกระดูกในเมืองมัณฑะเลย์ ร่วมแสดงอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารของกองทัพในประเทศเมียนมาร์ ในวันพุธ #militarycoup #SaveMyanmar”

Eleven Media สื่อท้องถิ่นในประเทศเมียนมาร์ เผยแพร่รายงานภาษาอังกฤษฉบับนี้เกี่ยวกับการประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองมัณฑะเลย์

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา