ผู้คนใส่หน้ากากอนามัยที่ร้านขายผักแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ท่ามกลางความหวาดกลัวของการแพร่ระบาดโรคโควิด19 วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 (AFP / Roslan Rahman)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ออนไลน์ว่า สิงคโปร์ได้สั่ง ‘ห้าม’ ประชาชนซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากการปนเปื้อนโรคโควิด 19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 14 สิงหาคม 2020 เวลา 10:30
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 2 กันยายน 2020 เวลา 19:37
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างว่าสิงคโปร์สั่งห้ามประชาชนในประเทศซื้อผักและผลไม้ที่เป็นสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากถูกปนเปื้อนจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ได้ถูกแชร์ออกไปทางไลน์และเฟซบุ๊ก โพสต์ดังกล่าวอ้างว่าสหรัฐฯ ใช้รถที่บรรทุกอาหารและ “ศพผู้ตายจากโควิด19” ร่วมกัน จึงทำให้เกิดการปนเปื้อน คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด รัฐบาลสิงคโปร์กล่าวว่า “ไม่ได้ออกแถลงการณ์ที่ห้ามการบริโภคสิงค้านำเข้าจากสหรัฐฯ” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าไม่มีหลักฐานว่าไวรัสดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อผ่านอาหารได้

คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกแชร์ผ่านไลน์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

Image

ข้อความที่ถูกแชร์ผ่านทางไลน์เขียนว่า “ไม่ซื้อ และ รับทาน ผัก ผลไม้ทุกชนิด จาก USA ..ประเทศ Singapore ห้ามประชาชนแล้ว เหตุผล คือ USA ใช้รถบรรทุก เหล่านี้ บรรทุกศพผู้ตาย Covid. มาใช้ บรรทุกอาหาร เชื้อจะเข้าไปปนกับ อาหารเหล่านี้”

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นผลมาจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด โดยระบุว่าไม่ได้มีคำแนะนำตามที่ถูกกล่าวอ้าง

แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนว่า “เราทราบถึงโพสต์ที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กล่าวว่าสื่อประเทศสิงคโปร์ได้รายงานว่าสินค้าผลไม้และอาหารที่ถูกนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และบราซิล มายังทวีปเอเชียและแอฟริกาได้ถูกปนเปื้อนจากเชื้อโควิด19 สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ที่ห้ามการบริโภคสินค้าที่ถูกนำเข้ามาจาก สหรัฐฯ ยุโรป หรือบราซิล”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสามารถแพร่เชื้อจากอาหารสู่มนุษย์ได้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้ในเดือนมีนาคม 2563 เกี่ยวกับการแพร่เชื้อของไวรัสโคโรน่า ข้อมูลแถลงการณ์แปลเป็นภาษาไทยว่า “ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านอาหาร” เช่นเดียวกัน องค์การความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรปซึ่งกล่าวว่า “ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสามารถแพร่เชื้อผ่านอาหารได้”

รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 โดยกล่าวว่า “ยังไม่มีหลักฐานว่าโควิด-19 จะสามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้จากผักและผลไม้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องระมัดระวัง ควรล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทานและควรทานอาหารปรุงสุก”

ดร.นพ. ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแม้ทางทฤษฏีไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวของอาหารได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป

“มีความเป็นไปได้ว่าไวรัสอาจจะมีชีวิตอยู่บนผิวของอาหารได้ แต่ต้องอยู่ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ตราบใดที่เรานำผักและผลไม้มาล้างด้วยน้ำ ก็จะปลอดภัย”

ในเดือนเมษายน 2563 สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่ระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่กระจายผ่านผักและผลไม้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา