บุคลากรทางการแพทย์เตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าโดสหนึ่ง ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในกรุงเทพฯ ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ออนไลน์ว่านิวยอร์กไทมส์จัดอันดับให้วัคซีนของประเทศจีนเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยที่สุด

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 7 มิถุนายน 2021 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้จัดอันดับให้วัคซีนโควิด-19 ของประเทศจีนเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด บทความของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่ได้มีการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีนตามที่ปรากฏในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ขยี้ตาแพล๊บ !!! รายงานการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีน โดย “ นิวยอร์คไทม์ส” ซึ่งเผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อ้าวสรุปนิวยอร์กไทม์ส กลายเป็นสลิ่มไปซะงั้น จะมีใครออกมาดิ้นไหมหนอ ตายละหว่า เพิ่งมีคนแซะวัคซีนเสิ่นเจิ้นอยู่เลย กลับแป๊บ !!!...”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพอินโฟกราฟิก โดยข้อความในภาพเขียนว่า “อันดับความปลอดภัยของวัคซีน โดยเดอะนิวยอร์กไทมส์

1. ซิโนฟาร์ม (จีน)
2. ซิโนแวค (จีน)
3. Kexing (จีน)
4. แคนซิโน (จีน)
5. แอสตร้าเซนเนก้า (สหราชอาณาจักร)
6. ไฟเซอร์ (สหรัฐฯ และเยอรมนี)
7. โมเดอร์นา (สหรัฐฯ)
8. จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (สหรัฐฯ)
9. โนวาแวค (สหรัฐฯ)
10. สปุตนิกวี (รัสเซีย)”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออนไลน์ ในขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมมากว่า 177,467 คน

ภาพและคำกล่าวอ้างเดียวกันถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างเดียวกัน กันถูกแชร์เป็นภาษาจีนที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

-- ไม่มีการจัดอันดับโดยนิวยอร์กไทมส์ --

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เดอะนิวยอร์กไทมส์เผยแพร่บทความที่เขียนพาดหัวซึ่งเแปลเป็นภาษาไทยว่า “ถึงเวลาไว้ใจวัคซีนของจีนและรัสเซีย” อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวไม่ได้มีการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19

บทความดังกล่าวเป็นบทความเชิงวิเคราะห์ของ Achal Prabhala นักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขชาวอินเดีย และ Chee Yoke Ling ทนายความสาธารณประโยชน์ชาวมาเลเซีย

บทความดังกล่าวไม่ได้เป็นการรับรองโดยฝ่ายบรรณาธิการ และไม่ได้เป็นการรายงานโดยผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ของเดอะนิวยอร์กไทมส์

เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้ชี้แจงทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ว่ามีการนำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด

 

แถลงการณ์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “เดอะนิวยอร์กไทมส์ไม่ได้เผยแพร่การจัดอันดับนี้ การรายงานของเราไม่ได้นำเสนอว่าวัคซีนของประเทศจีนนั้นเหนือกว่าวัคซีนที่ผลิตจากที่อื่น นอกจากนี้เราไม่ได้เผยแพร่คำกล่าวอ้างว่าจีนได้ทำการส่งออกไปแล้วกว่า 500 ล้านโดส”

-- บทความเก่าของ Deutsche Welle --

รายการวัคซีนที่ปรากฏอยู่ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นรายการของวัคซีนที่อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 ในบทความฉบับนี้ของ Deutsche Welle (DW) สื่อของประเทศเยอรมัน โดยเป็นรายงานตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2563

รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “วัคซีนโควิด-19 10 โครงการที่ ก้าวหน้าที่สุดในโลก”

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่างๆ ตามที่ถูกนำไปกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ย่อหน้าแรกของรายงานแปลเป็นภาษาไทยว่า “ณ ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโครงการพัฒนาวัคซีนทั้งหมด 10 วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ซึ่งก็คือการทดลองระยะที่ 3 ในจำนวนนี้ 4 ยี่ห้อมาจากประเทศจีน 3 มาจากสหรัฐฯ 1 มาจากเยอรมัน 1 จากสหราชอาณาจักร และ 1 จากรัสเซีย”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา