คนเดินถนนในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 (AFP / Mladen Antonov)

หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์สามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ นักวิทยาศาสตร์กล่าว

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 13 มกราคม 2021 เวลา 04:00
  • อัพเดตแล้ว วัน 27 เมษายน 2021 เวลา 16:35
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่โรคโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย คำกล่าวอ้างที่ระบุว่า หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ไม่สามารถใช้ป้องกันการระบาดของโรค ได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด นักวิทยาศาสตร์อธิบายกับ AFP ว่าหน้ากากชนิดนี้สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าในการป้องกัน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564

คำบรรยายาโพสต์เขียนว่า

รู้หรือยังครับ เก็บไว้เป็นข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์
non medical mask   
= หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์  
= ใช้กันเชื้อโรค ฯ  ไม่ได้

medical mask 
= หน้ากากอนามัย  ที่ใช้ทางการแพทย์
= กันเชื้อโรคได้  ประสิทธิภาพสูง

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดโควิดในช่วงนี้  
ถ้าเว้นระยะได้ ก็ใช้ non medical mask ได้อยู่   
แต่ถ้า เป็นพื้นที่เสี่ยงมากๆ หรือ แออัดมากๆ  ก็ต้องใช้ medical mask ขึ้นไป

โพสต์ดังกล่าวมีภาพกล่องหน้ากาก 2 กล่องโดยมีการวาดวงกลมสีแดงรอบคำว่า “หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์”

Image

ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่พบการระบาดละลอกใหม่ที่ตลาดอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 แล้วใน 53 จังหวัดทั่วประเทศ สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่

คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด


ชนิดของหน้ากาก

ภาพถ่ายกล่องหน้ากากอนามัยในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นหน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมีจำหน่ายทั่วไปในร้านค้า โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากอนามัยชนิดดังกล่าว ในขณะที่ หน้ากากผ่าตัดและหน้ากากประเภท N-95 ควรสงวนไว้เพื่อการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์

หน้ากากผ้าซึ่งผลิตจากวัสดุที่หายใจได้สะดวกเช่นผ้าฝ้าย ก็เป็นหน้ากากอนามัยอีกชนิดที่ได้รับการแนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน CDC ระบุว่า “นอกจากจะสามารถป้องกันละอองขนาดใหญ่ (ยกตัวอย่าง 20-30 ไมครอนขึ้นไป) หน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันการหายใจละอองที่มีความละเอียดและอนุภาค (หรือ) ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนได้อีกด้วย”

Image

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หน้ากากทางการแพทย์ หรือหน้ากากที่ใช้ในการผ่าตัด มีลักษณะแบนหรือจีบ โดยหน้ากากชนิดนี้จะสามารถใส่ได้โดยการคล้องสายรัดที่รอบหู ศีรษะหรือทั้งสองอย่าง หน้ากากทางการแพทย์มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะประกอบด้วยสามหรือสี่ชั้น แต่ละชั้นจะใช้เส้นใยที่มีความละเอียดถึงละเอียดมาก หน้ากากเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันละอองและอนุภาค

ขณะเดียวกัน หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้านั้นถูกผลิตจากผ้าทอและผ้าไม่ทอหลายชนิดเช่นโพลีโพรพีลีน หน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อาจผลิตจากผ้าหลายชนิดการเรียงลำดับชั้น และมีให้เลือกหลายรูปแบบ


ไม่มีหน้ากากที่สามารถรับประกันได้ 100%

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ว่า “หน้ากากทั่วไปอย่างหน้ากากผ้าสามารถใช้ป้องกันไวรัสได้” ขณะที่ “หน้ากากที่ใช้ในการผ่าตัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีกว่า”

“คุณสามารถลองหยดน้ำลง [หน้ากากผ่าตัด] แล้วจะเห็นว่าน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีหน้ากากชนิดไหนที่สามารถรับประกันได้ 100%” เขากล่าว

“วิธีที่ดีที่สุดคือการล้างมือและเว้นระยะห่างทางสังคม”

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ AFP เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ว่า “ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าไวรัสนี้ส่วนมากแล้วแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็ก เช่นเวลาเราพูดหรือไอ ละอองเหล่านี้มีขนาดใหญ่พอที่จะถูกจับอยู่ที่ผ้าของหน้ากาก”

“ไม่มีหน้ากากชนิดไหนที่สามารถป้องกันได้ 100% แม้แต่หน้ากากสำหรับการผ่าตัด แต่แม้แต่หน้ากากผ้าเองก็ยังช่วยป้องกันบุคคลทั่วไปได้ในระดับหนึ่งและไม่ควรถูกนำมากล่าวว่าใช้ป้องกันไม่ได้”

รายงานฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า “มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการใช้หน้ากาก รวมถึงหน้ากากผ้า สามารถป้องกันการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2”

เว็บไซต์ของ CDC มีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทต่างๆ ของหน้ากากอนามัยและการใช้งานที่เหมาะสม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา