เจ้าหน้าที่แพทย์เตรียมวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทซิโนแวคของประเทศจีน ก่อนจะฉีดให้กับพนักงานที่ทำงานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

วิดีโอเก่าถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า “ฟ้าทะลายโจร” สามารถใช้เพื่อต้านโควิด-19 ได้

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 28 เมษายน 2021 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป พร้อมคำกล่าวอ้างที่ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า “ฟ้าทะลายโจร” สามารถใช้ในการ “ต้าน” โควิด-19 คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่มมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน 2564 อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างนี้ถูกเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และไม่ได้เป็นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสมุนไพรดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ในการป้องกันโรคโควิด-19

วิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกกว่า 50,000 คน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า: “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้ว ฟ้าทะลายโจรมีสาร “แอนโดร การ์โฟร์ไลท์” ต้านโควิด-19 ไม่ให้เข้าเซล และต้านการแตกตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในร่างกายได้ หารับประทานเพื่อป้องกันกันได้เลยวันนี้”

ข้อมูลจาก WebMD เว็บไซต์ด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า “ฟ้าทะลายโจร” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ แอนโดร การ์โฟร์ไลท์ คือสมุนไพรที่พบอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกา ใบและรากของพืชชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยาเพื่อป้องกันและรักษาไข้หวัดทั่วไปได้

โพสต์ดังกล่าวมีลิงก์คลิปวิดีโอยูทูปที่มีชื่อว่า “กระทรวงสาธารณสุขยืนยันฟ้าทะลายโจร ต้านโควิด-19 ได้”

ภาพในคลิปวิดีโอที่โพสต์ดังกล่าวแชร์ แสดงนพ.สุขุม กาญจนพิมาย อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวรายวันเรื่องสถานการณ์โควิด-19

ตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในไทยเพิ่มสูงขึ้นก่อนช่วงเทศกาลหยุดยาวในช่วงเดือนเมษายน จากตัวเลขของสำนักข่าว AFP ณ วันที่ 26 เมษายน 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งหมด 57,508 คน

วิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์และยูทูป

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

วิดีโอที่ถูกนำกลับมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นคลิปที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 สองเดือนหลังโรคโควิด-19 เริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และคำกล่าวอ้างในคลิปวิดีโอนี้ไม่ตรงกับชุดข้อมูลและคำแนะนำล่าสุดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของประเทศไทย

การค้นหาด้วยคำสำคัญพบคลิปวิดีโอต้นฉบับ ซึ่งถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563

วิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “Rerun Ep 34 : สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปวิดีโอยูทูปต้นฉบับ

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่าขณะนี้ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสามารถแนะนำฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโรคโควิด-19

นพ.กุลธนิต วนรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าเขา “ไม่แนะนำ” ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการป้องกันโรคโควิด-19

ในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นพ.กุลธนิต ยืนยันว่า “ไม่แนะนำใช้ฟ้าทะลายโจรในการป้องกันโรคโควิด-19 เพราะ ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอ”

นพ.กุลธนิต อธิบายต่อว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งพบว่าฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณในการบรรเทาบางอาการของโรคโควิด-19 ได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้

“(ฟ้าทะลายโจร) ไม่ได้ช่วยป้องกันไวรัสให้เข้าเซลล์” นพ.กุลธนิตกล่าว

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันเช่นกันว่าฟ้าทะลายโจร “ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19”

ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นพ.ขจรศักดิ์ยืนยันกับ AFP ว่า “ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรก่อนติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากมันไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันโรคโควิดได้”

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมอบฟ้าทะลายโจรจำนวน 600,000 แคปซูลให้กับโรงพยาบาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการรักษาอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคโควิด-19

Image
ภาพถ่ายหน้าจอรายงานข่าวของกระทรวงสาธารณสุข

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา