บุคลากรทางการแพทย์ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 หนึ่งโดสให้กับผู้หญิงคนหนึ่งภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 (AFP / Jack Taylor)

โพสต์ออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด เกี่ยวกับยาคุมกำเนิดและการฉีดวัคซีนโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 16 มิถุนายน 2021 เวลา 12:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้เฟสบุ๊กหลายคนได้แชร์คำเตือนให้สตรีเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลา 2 อาทิตย์ก่อนและหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างว่าความผิดพลาดในการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันว่ายาคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงเมื่อใช้คู่กับการฉีดวัคซีนโควิด-19

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “กินยาคุมแล้วฉีดวัคซีนไม่ได้นะจ๊ะ ต้องงดก่อน 14 วัน หลังฉีดอีก 14 วัน เดี๋ยวจะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน และเดี๋ยวจะตายเอานะจ๊ะ”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออกไปหลังจากที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ว่า “สำหรับสตรีที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับคุมกำเนิดหรือภาวะเกี่ยวข้องกับข้อมูลควรที่จะหยุดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทั้งนี้อย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้”

ประเทศไทยเริ่มการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 6 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายน โดยเน้นฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในกรุงเทพฯ สำนักข่าว AFP รายงาน

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างในโพสต์เหล่านี้ทำให้เข้าใจผิด

“ไม่มีความเสี่ยง”

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์วิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศเรื่อง “การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และ การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอรโมน” โดยแนะนำว่า “ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้”

ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์วิทยาลัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มแต่อย่างใด”

นพ.อรรณพ ใจสำราญ เลขาธิการและประธานคณะอนุกรรมการวิเทศสัมพันธ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ว่า “ไม่แนะนำให้ผู้หญิงหยุดการใช้ยาคุมกำเนิด”

“ควรจะใช้ต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” นพ.อรรณพ กล่าว

นพ.อรรณพ อธิบายเพิ่มว่า “อาจารย์ธีระวัฒน์อาจกังวล แต่โอกาสการเกิดหลอดเลือดอุดตันในสตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิดนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช้ยาคุม”

นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่าคำแนะนำของเขาเรื่องยาคุมกำเนิดถูกนำไปตีความผิดในสื่อสังคมออนไลน์

“เรื่องฮอร์โมนเช่นยาคุม ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ แต่เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทำให้เลือดข้นอยู่บ้างแล้ว ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนจะได้ไม่เกิดปัจจัยซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก และ “ไม่ได้เป็น ข้อห้าม” ถ้าเลี่ยงได้ 14 วันก่อนและหลังวัคซีน” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

ลิ่มเลือด

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันกับ AFP ในประเทศไทยว่ายังไม่มีรายงานเรื่องการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อซิโนแวคและแอสตราเซเนก้าไปแล้วราว 5 ล้านโดส

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า “ณ วันนี้ผลข้างเคียงที่ชัดยังไม่พบ มีเเต่ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่นการปวดเมื่อยตามตัว”

ความกังวลเรื่องลิ่มเลือดที่เกี่ยวโยงกับวัคซีนโควิด-19 ทำให้รัฐบาลไทยระงับการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคม 2564 สำนักข่าว AFP รายงาน

ไม่กี่วันต่อมา เจ้าหน้าที่ได้กลับมาอนุมัติการใช้งานของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนก้า โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นคนแรกในประเทศไทยที่รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 16 มีนาคม 2564

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา