ภาพนี้ไม่ได้ถ่ายในประเทศเมียนมาร์ -- นี่เป็นภาพการประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพนี้ได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงชาวเมียนมาร์นอนบนท้องถนนภายหลังการก่อรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ นี่เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์การประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2563

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 1,500 ครั้ง

Image


คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ชาวเมียนมาร์นอนขวางถนน เพื่อประท้วงการทำรัฐประหารโดยกองทัพ”

ภาพดังกล่าวถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในขณะที่กองทัพเมียนมาร์เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาแสดงอารยะขัดขืน ภายหลังการก่อรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ประชาชนชาวเมียนมาร์ลุกฮือขึ้น หลังผู้นำรัฐบาลพลเรือน นางออง ซาน ซูจี และพันธมิตรของเธอถูกทหารควบคุมตัวระหว่างการยึดอำนาจของกองทัพ โดยการรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศเมียนมาร์ หลังการปกครองอันยาวนานของรัฐบาลทหาร

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วกองทัพเมียนมาร์ได้ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในประเทศโดยเป็นความพยายามในการหยุดกระแสการประท้วงต่อต้านของประชาชน แต่มวลชนจำนวนมากก็ยังออกมาประท้วงต่อต้านกองทัพ ทั้งในเมืองใหญ่และหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล

ภาพถ่ายเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพถ่ายเดียวกันปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของ Washington Post หนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563

Image


คำบรรยายภาพเขียนว่า “ผู้คนร่วมนอนประท้วง ด้านนอกเรือนจำแอลเลแกนี เคาน์ตี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ในตัวเมืองพิตส์เบิร์ก” พร้อมระบุว่าภาพดังกล่าวถ่ายโดย “Matt Freed/Pittsburgh Post-Gazette/AP”

การค้นหาด้วยคำสำคัญในคลังภาพออนไลน์ของสำนักข่าว AP พบภาพต้นฉบับที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ Washington Post (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ Washington Post (ขวา)

ในช่วงฤดูร้อนในปีที่แล้ว การประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์แผ่ขยายวงออกไปทั่วสหรัฐฯ หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวแอฟริกันอเมริกัน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ฟลอยด์เสียชีวิตขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวควบคุมตัว โดยเอาเข่ากดที่คอเป็นเวลากว่า 8 นาที

การเสียชีวิตของฟลอยด์ ซึ่งถูกบันทึกวิดีโอโดยผู้ที่เห็นเหตุการณ์ สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก และนำไปสู่การออกมาเดินประท้วงบนท้องถนนของผู้คนนับล้านเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา