พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (AFP / Chalinee Thirasupa)

ภาพถ่ายถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด เกี่ยวกับการพบกันของนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ในกรุงเทพฯ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายหนึ่งได้ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งบนเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะต้อนรับนายวันนะ หม่อง ลวินรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาร์ ที่สนามบินดอนเมืองในกรุงเทพฯ ภาพถ่ายดังกล่าวถูกแชร์ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารของเมียนมาร์ เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างสมาชิกอาวุโสของฝ่ายกองทัพเมียนมาร์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายนี้ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพที่ด้านหน้าของอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติขณะที่นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเดินทางมาร่วมการประชุม

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โพสต์นี้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 43,000 ครั้ง

Image
Screenshot of the misleading Facebook post, taken on February 25, 2021


คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ด่วน: ประยุทธ์โผต้อนรับ Wunn Maung Lwin รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาล “คณะรัฐประหารของเมียนมาร์” ที่ห้องรับรอง กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับการมาเยือนของคณะเผด็จการที่กระทำการรัฐประหารซึ่งทั่วโลกต่างประณาม”

นายวันนะ หม่อง ลวิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพเมียนมาร์ภายหลังการรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนของประเทศเมียนมาร์

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ถูกแชร์ขณะที่ รัฐมนตรีวันนะ หม่อง ลวิน เข้าพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างตัวแทนระดับอาวุโสของกองทัพและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ

ภาพดังกล่าวถูกแชร์ทางทวิตเตอร์โดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคก้าวไกล โดยทวีตดังกล่าวถูกแชร์ต่ออีกมากกว่า 8,000 ครั้ง

ภาพเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดังกล่าวถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด

แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จริง ตามที่สื่อท้องถิ่นของประเทศรายงานที่นี่ แต่ภาพถ่ายที่ทำให้เข้าใจผิดไม่ได้แสดงการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์

ภาพดังกล่าวแสดงพลเอกประยุทธ์และ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพฯ

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกประยุทธ์มีหมายกำหนดการเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สื่อท้องถิ่นรายงานที่นี่

ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพที่บริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รายละเอียดของอาคารในภาพถ่ายจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ตรงกับรายละเอียดของภาพของกูเกิล 

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากภาพ Street View ของกูเกิล (ขวา)

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากภาพ Street View ของกูเกิล (ขวา)

พลตำรวจตรียิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ว่าภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถ่ายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจตรียิ่งยศกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีเดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเป็นประธาน ก.ต.ช. ก.ตร.”

พลตำรวจตรียิ่งยศยืนยันว่าผู้ชายที่เข้าใจผิดว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์นั้น คือนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ท่านคือคนที่โค้งนายกฯ ประยุทธ์” เขากล่าว

สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่วิดีโอการถ่ายทอดสดในช่วงที่พลเอกประยุทธ์เดินทางมาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

วิดีโอดังกล่าวแสดงนายดิสทัต ซึ่งใส่เสื้อสูทสีเทาและเน็คไทสีเหลือง โดยในช่วงนาที่ 3.41 จะสามารถสังเกตเห็นนายดิสทัตกำลังเดินตามพลเอกประยุทธ์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ซ้าย) และภาพถ่ายของนายดิสทัตบนเว็บไซต์ของรัฐบาล (ขวา)

Image
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ซ้าย) และภาพถ่ายของนายดิสทัตบนเว็บไซต์ของรัฐบาล (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา