ภาพตัดต่อการประท้วงในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายนี้ได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่า ภาพดังกล่าวแสดงการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ อย่างไรก็ตามภาพนี้ถูกดัดแปลง แม้ว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ภาพนี้ถูกตัดต่อเพื่อทำให้ผู้ชุมนุมดูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 180 ครั้ง

Image
Screenshot of the misleading Facebook post, taken on February 18, 2021.


คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “พลังคนเมียนมาร์ต่อต้านรัฐประหารวันนี้! ภาพมุมสูงสี่แยกถนนเจดีย์สุเล ย่างกุ้ง ผู้ประท้วงไม่สนใจคำสั่งกองทัพห้ามชุมนุม กฎอัยการศึกหรือคำขู่ใดๆ ของทหาร! #ม็อบพม่า17กุมภา”

ภาพนี้ถูกแชร์ในช่วงที่กองทัพเมียนมาร์เข้าสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยางในการสลายการชุมนุมอย่างสันติของผู้ประท้วงชาวเมียนมาร์ทั่วประเทศ ขณะที่การแสดงอารยะขัดขืนของชาวเมียนมาร์ในอาทิตย์ที่แล้วได้ขยายวงกว้างออกไปสู่หลายเมืองทั่วประเทศ โดยผู้ประท้วงได้นำรถยนต์มาจอดเพื่อปิดเส้นทางเข้าออกตัวเมืองในนครย่างกุ้ง

ภาพเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และในทวิตเตอร์ที่นี่

อย่างไรก็ตามภาพนี้ เป็นภาพที่ถูกดัดแปลง

ภาพสะท้อน

หากสังเกตรายละเอียดในภาพจะเห็นว่าภาพถูกดัดแปลงและนำมาตัดต่อรวมเข้าด้วยกัน โดยใช้เทคนิคการสะท้อนภาพทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่ามีมวลชนมากขึ้น

เทคนิคการแต่งภาพดังกล่าว สามารถสังเกตเห็นได้ในภาพด้านล่าง

Image
The doctored image with a white line added to show where it is reflected


การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพต้นฉบับนี้ ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์ของ The Irrawaddy หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564


คำบรรยายทวีตแปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ประท้วงนับหมื่นคนออกมาชุมนุมต่อต้านกองทัพ#เมียนมาร์ เมื่อวันพุธ ในเขตสุเล ใจกลางนครย่างกุ้ง ภายหลังจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.  โดยตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. มีผู้คนออกมาเคลื่อนไหวในการชุมนุมต่อต้านการ#รัฐประหาร ทุกวันทั่วประเทศเมียนมาร์”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อ (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา)

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อ (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา)


ในทั้งสี่ภาพจะสามารถสังเกตเห็นรถตู้ บันไดสะพานลอย และต้นไม้ โดยสำนักข่าว AFP ได้วาดวงกลมสีแดงเพื่อแสดงจุดสังเกตดังกล่าวในทั้งสี่ภาพ

Image
ภาพถ่ายต้นฉบับ (ซ้าย) และภาพที่ถูกดัดแปลง (ขวา)

ภาพถ่ายต้นฉบับเป็นภาพถ่ายมุมสูงของสะพานลอยข้ามแยกถนนสุเลพญา

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา