
โพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิดนำภาพถ่ายของพระสงฆ์ที่เดินขบวนประท้วงในนครย่างกุ้งในปี 2550 มาแชร์หลังการรัฐประหารของกองทัพในปี 2564
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 05:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายทั้งสามภาพ ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “พระสงฆ์ออกมา เต็มพิกัด ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ร่วมกับประชาชนต่อต้านเผด็จการ มิน อ่อง หลาย”
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในสื่อสังคมออนไลน์ขณะที่กองทัพเมียนมาร์ ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนโดยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และเดินหน้ากวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างเด็ดขาด สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่
ภาพถ่ายชุดเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถึง 1,300 ครั้งทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายทั้งสามภาพนี้ ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด
ภาพที่หนึ่ง
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพถ่ายต้นฉบับบนเว็บไซต์คลังภาพของสำนักข่าว AFP โดยภาพดังกล่าวถ่ายโดยช่างภาพ AFP เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550

คำบรรยายภาพเขียนว่า “พระสงฆ์เดินขบวนประท้วงในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 โดยนับเป็นการแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลทหารที่ใหญ่ที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ มีผู้คนมากกว่า 100,000 คนออกมาร่วมเดินประท้วงไปตามท้องถนนในนครย่างกุ้ง โดยมีสองขบวนหลักที่มีพระสงฆ์เดินนำพร้อมการสวดมนต์และแผ่เมตตา ขณะที่มวลชนเดินไปตามถนนในเมืองที่ถือเป็นเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของประเทศเมียนมาร์”
การประท้วงขนาดใหญ่เริ่มขึ้นในนครย่างกุ้งในช่วงฤดูร้อนในปี 2550 การเดินประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยพระสงฆ์ครั้งนี้ถูกกองทัพกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยม
การประท้วงครั้งนี้ถูกขนานนามว่า “การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์” โดยเป็นชื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีของจีวรพระสงฆ์
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของ AFP (ขวา):

ภาพที่สอง
การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบภาพต้นฉบับในรายงานของสำนักข่าว Reuters

คำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า “พระสงฆ์เดินขบวนประท้วงผ่านใจกลางนครย่างกุ้ง ขณะที่ประชาชนค่อยๆ ร่วมเดินขบวนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของ Reuters (ขวา):

ภาพถ่ายเดียวกันปรากฎอยู่ในบทความฉบับนี้ของนิตยสารไทม์ โดยบทความดังกล่าวมีชื่อว่า “ประวัติย่อของพลังประชาชน”
ภาพที่สาม
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพที่สามถูกแชร์ในโพสต์นี้โดยบัญชีทวิตเตอร์ของ Naypyidaw Post สื่อท้องถิ่นในประเทศเมียนมาร์

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 โดยคำบรรยายภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยว่า “การเคลื่อนไหววันนี้ 22222 (22/02/2021) นับเป็นวันสำคัญในเมียนมาร์”
“ประชาชนชาวเมียนมาร์หลายล้านคน ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ สีผิวหรืออาชีพ ต่างออกมาประท้วงต่อต้านเผด็จการและการปฎิวัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
“พวกเราล้วนสมควรได้รับประชาธิปไตย ช่วยเราด้วย!”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากโพสต์ทวิตเตอร์ของ Naypyidaw Post (ขวา):

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา