เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากมูลนิธิสยามนนทบุรี นำยาฆ่าเชื้อไปฉีดให้กับพระที่ร่วมพิธีฌาปนกิจของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่วัดราษฎร์ประคองธรรมในจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

ห้างขายยาตราใบห่อกล่าว“ยาเขียว”ไม่สามารถนำไปใช้รักษาโรคโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 10 พฤษภาคม 2021 เวลา 22:30
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 11 พฤษภาคม 2021 เวลา 10:25
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ประเทศไทยพบยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ข้อความหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างว่ายาเขียวสามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ บริษัทผู้ผลิตยาสมุนไพรอธิบายว่ายาชนิดนี้ “ไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด” ขณะที่ผู้เชียวชาญด้านสุขภาพเผยว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่ายาชนิดดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

ข้อความนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564

Image

ข้อความในโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ได้รับคลิปเสียงตำรวจคุยกับผู้บังคับบัญชา ว่า ดังนี้ .....คลิปเสียงนี้ สนทนาของตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ภาษีเจริญ  ติดเชื้อโควิด คุยกับอดีตผู้บังคับบัญชา ถึงการดูแลตัวเอง กิน-ดื่ม ยาเขียว และสมุนไพรไทย (น้ำกระชายปั่น+ เสลดพังพอน+ฟ้าทลายโจร เพื่อรักษาอาการป่วยระหว่างรอเตียง

“จนมีอาการดีขึ้น หายเป็นปกติ  พอไปตรวจรอบ 2 หมอแจ้งไม่มีเชื้อแล้ว”

ยาเขียว” คือยาแผนโบราณของไทย โดยมีส่วนประกอบของสมุนไพรเป็นองค์ประกอบหลัก

โดยยาเขียวมีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในยี่ห้อ “ใบห่อ” หรือยาเขียวตราใบห่อ ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่ายาชนิดดังกล่าวสามารถ “แก้ร้อนใน แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ท้องผูก”

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในขณะที่รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรวมไปถึงการปิดสวนสาธารณะ โรงหนัง และสระว่ายน้ำในกรุงเทพฯ

ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทย มีผู้ป่วยสะสมมากว่า 85,005 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 421 ราย

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตยาดังกล่าวระบุว่า คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ในเดือนมกราคม 2564  ห้างขายยาเขียวตราใบห่อได้ออกมาชี้แจงว่าสินค้าดังกล่าว “ไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด”

ในแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก “ห้างขายยาตราใบห่อ baihor” ได้เขียนข้อความอธิบายว่า “ช่วงนี้มีข่าวลือเผยแพร่ว่า... ยาเขียวและยาขมสามารถรักษาโรคจากไวรัสโควิดได้และมีการพาดพิงมาถึงผลิตภัณฑ์ของตราใบห่อด้วยนั้น ทาง “ตราใบห่อ” ขอเรียนให้ทราบและย้ำอีกครั้งว่า #ยาขมยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือรักษา”

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันเช่นกันว่า “ยาเขียวไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ยืนยันว่าคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมเป็น “ข้อมูลเท็จ”

รายงานฉบับนี้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เขียนพาดหัวว่า “ข่าวปลอม อย่าแชร์! คลิปเสียงหมอศิริราช แนะนำกินยาเขียว เพื่อรักษาโควิด-19”

“ข่าวนี้เป็นข่าวเก่าที่เคยมีการส่งต่อแล้ว ซึ่งการใช้ยาเขียวในการรักษาโรคเป็นองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ใช้กระทุ้งไข้ หัด อีสุกอีใส อีกทั้งยาเขียวยี่ห้อดังกล่าวไม่มีการบอกสูตรยาที่แน่นอน และยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าสามารถใช้รักษาโรค โควิด-19 ได้”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา