เจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกัน PPE ขณะพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อบนที่นั่งภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ภายหลังการระบาดระลอกล่าสุดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย (AFP / Jack Taylor)

คำกล่าวอ้างเท็จเรื่องความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 11:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2564 คำกล่าวอ้างหนึ่งได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทางเฟซบุ๊กและไลน์ในประเทศไทย โดยระบุว่าแพทย์อิตาลีค้นพบว่าโรคโควิด-19 มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่สัมผัสกับคลื่นรังสี 5G ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลและแอสไพริน อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชียวชาญด้านสุขภาพจากหลายประเทศทั่วโลกเผยว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิตาลียืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวลวง”

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมือวันที่ 9 มกราคม 2564 และถูกแชร์ต่ออีกว่า 561 ครั้ง

เนื้อหาบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “BREAKING NEWS ข่าวใหญ่ระดับโลก อิตาลีดำเนินการชันสูตรศพของผู้ป่วยโคโรนาที่เสียชีวิตการเปิดเผยครั้งใหญ่เกิดขึ้น”

“อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำการชันสูตรพลิกศพ (การชันสูตรศพ) เกี่ยวกับศพของ Covid-19 และหลังจากการวิจัยอย่างละเอียดพบว่า Covid-19 ไม่มีอยู่ในรูปของไวรัส แต่มีขนาดใหญ่มาก  เป็นการหลอกลวงระดับโลก  ผู้คนเสียชีวิตจาก "Amplified Global 5G Electromagnetic Radiation (Poison)”

“โปรดแบ่งปันข้อมูลนี้กับครอบครัวเพื่อนบ้านคนรู้จักเพื่อนเพื่อนร่วมงานเพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากความกลัวของ Covid-19 และเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ไวรัส แต่เป็นแบคทีเรียที่สัมผัสกับรังสี 5G เท่านั้น  สาเหตุคืออันตรายต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก  รังสีนี้ยังทำให้เกิดการอักเสบและขาดออกซิเจน  ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อควรรับประทาน Asprin-100mg และ Apronix หรือ Paracetamol 650mg”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ที่นี่ นี่และนี่ และทางไลน์ที่นี่

ขณะที่บางโพสต์เช่นที่นี่และนี่ ได้เปลี่ยนคำว่า “อิตาลี” เป็น “รัสเซีย”

ในช่วงเดือนเมษายนประเทศไทยเจอกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 32,000 คน สำนักข่าว AFP รายงาน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ระบุว่ายอดผู้ป่วยสะสมของไทยอยู่ที่ 71,025 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อยู่ที่ 276 ราย

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ ซึ่งถูกแชร์ออนไลน์มาก่อนแล้วในหลายภาษา เป็นเท็จ

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเดียวกันที่ถูกแชร์ในประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563

ในขณะนั้นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิตาลียืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับแพทย์อิตาลีนั้นเป็น “ข่าวลวง”

การติดเชื้อไวรัส

องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดจากไวรัส ไม่ใช่แบคทีเรียหรือ 5G

ข้อความบนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเขียนว่า: “โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) เป็นการติดเชื้อจากไวรัส ไม่ใช่จากแบคทีเรีย”

ณ เดือนเมษายน 2564 องค์การอนามัยโลกยืนยันว่ายังไม่มีวิธีการ “รักษา” เชื้อไวรัสโคโรน่า

หลายประเทศกำลังฉีดวัคซีนให้กับประชากรนับล้านคนทั่วโลก เพื่อพยายามป้องกันผู้คนจากโรคดังกล่าว สำนักข่าว AFP รายงาน

กระทรวงสาธารณสุขอิตาลีอธิบายว่ายาพาราเซตามอล “บรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้สูง แต่ไม่ถือเป็นวิธีการรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่า”

ความเชื่อเรื่อง 5G

องค์การอนามัยโลกได้ชี้แจงว่าโรคโควิด-19 แพร่กระจายผ่านละออง จากการไอ จาม พูด หรือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีละอองเชื้อ -- ไม่ได้ติดเชื้อผ่านเทคโนโลยี 5G

ข้อความบนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเขียนว่า “โรคโควิด-19 ระบาดในหลายประเทศที่ไม่มีเครือข่าย 5G สำหรับโทรศัพท์มือถือ” ทฤษฏีสมคบคิดที่โทษเทคโนโลยี 5G ว่าเป็นสาเหตุของโควิด-19 ได้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงเดือนแรกๆ ของการระบาด

Fabien Heliot นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบการสื่อสารไร้สายจาก มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในประเทศอังกฤษ อธิบายกับ AFP ว่าเทคโนโลยี 5G ไม่สามารถทำให้เกิดไวรัส

เช่นเดียวกับระบบการสื่อสาร รุ่นก่อน 5G เป็นเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency) ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EM) ในการส่งข้อมูล คลื่น EM เหล่านี้แผ่รังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (non-ionizing radiations)

“ไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถถูกสร้างขึ้นได้ด้วยรังสี ในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม -- เรามีการกำหนดแนวทางเพื่อให้มั่นใจว่ารังสีจะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา