
นี่เป็นภาพที่แสดงการประท้วงต่อต้านจีนในประเทศเวียดนามในปี 2557 และเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานของไต้หวันในปี 2563
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 17 มีนาคม 2564 เวลา 08:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 700 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “เผาแล้วประเทศพม่านี่คือการตอบโต้ของประชาชนชาวพม่า โรงงานจีนในพม่าเหลือแค่ซาก ราคาที่จ่ายไปต้องเอาคืน”
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในสื่อสังคมออนไลน์ขณะที่กองทัพเมียนมาร์ ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนโดยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดินหน้ากวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง นี่คือรายงานล่าสุดของ AFP เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ โรงงานของจีนในประเทศเมียนมาร์ตกเป็นเป้าของผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย โดยพวกเขาเชื่อว่าจีนให้การสนับสนุนกองทัพ สำนักข่าว AFP รายงาน
ภาพถ่ายและคำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบว่า ภาพแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นภาพโรงงานที่ถูกเผาในประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 โดยภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพของสำนักข่าว AFP
คำบรรยายภาพเขียนว่า “ควันไฟลอยขึ้นจากหน้าต่างโรงงานในเมืองบินห์เยือง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ขณะที่สื่อของรัฐรายงานว่าผู้ประท้วงต่อต้านจีนได้จุดไฟเผาโรงงานหลายแห่งในประเทศเวียดนาม โดยเป็นการตอบโต้ที่บานปลายมาจากการติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันของประเทศจีนในน่านน้ำที่ยังเป็นพื้นที่พิพาท”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพแรกในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของ AFP (ขวา):

ภาพถ่ายของ AFP ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของ BBC เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 โดยรายงานเขียนพาดหัวว่า “ประท้วงต่อต้านจีนในเวียดนาม โรงงานถูกเผา”
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบว่าภาพที่สองแสดงเหตุการณ์ไฟไหม้ในโรงงานของไต้หวันในปี 2563
ภาพถ่ายนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ฉบับนี้ของ Focus Taiwan เว็บไซต์ภาษาอังกฤษของสำนักข่าวกลางของไต้หวัน

เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรายงานว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้มีต้นเพลิงมาจากโรงงาน 5 ชั้นของบริษัท Sci Parmtech ในเขตหลูจู๋เมื่อเวลา 12:14 น. และได้ลามไปยังโรงงานใกล้เคียงอีก 5 แห่ง ก่อนเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจะระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ Focus Taiwan (ขวา):

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา