
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือนเรื่องคำแนะนำเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถูกแชร์ออนไลน์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 05:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564

คลิปวิดีโอความยาว 1 นาที 33 วินาที ดังกล่าวนำเสนอวิธีการดูแลตัวเองที่ระบุว่าเป็นคำแนะนำจากแพทย์จีนที่มีประสบการณ์กับโควิด-19
“ดื่มน้ำร้อน”
ในช่วงที่ 0:24 โพสต์ดังกล่าวแนะนำให้ “ดื่มชา กาแฟ ซุป น้ำอุ่น มากๆ นอกจากนั้นควรจิบน้ำร้อนทุก 20 นาที ซึ่งจะทำให้ช่องปากชื้นอยู่เสมอ น้ำอุ่นจะล้างไวรัสที่อยู่ในปากให้ลงไปที่กระเพาะก่อนที่จะไปที่ปอด น้ำย่อยจะทำให้ไวรัสตาย”
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะแนะนำให้ดื่มน้ำ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันว่าการดื่มน้ำร้อนหรือเย็นจะสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้
Brandon Brown ศาสตราจารย์จากศูนย์เพื่อสุขภาพชุมชนของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า “ไม่มีความจำเป็นในการเปลี่ยนอุณหภูมิของน้ำดื่มของคุณ”
เขาอธิบายผ่านอีเมลว่า “การดื่มน้ำนั้นเป็นเรื่องสำคัญเสมอ แต่มันไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าได้”
เช่นเดียวกัน Jayaruwan Bandara ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของประเทศศรีลังกา ระบุว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการดื่มชาจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้ เขาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “แม้ว่าการดื่มชาสามารถเป็นผลดีกับสุขภาพของเราแต่ไม่สามารถนำมาอ้างเป็นวิธีการป้องกันหรือนำมาใช้รักษาได้ในกรณีของโรคโควิด-19”
เขาบอกว่า วิธีเดียวที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือการทำตามคำแนะนำ ซึ่งรวมถึงการล้างมือและเว้นระยะห่างทางสังคม

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเรื่องการการดื่มน้ำอุ่นอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แล้วที่นี่
“การกลั้วคอ”
ในช่วง 0:33 โพสต์ดังกล่าวแนะนำให้ “กลั้วคอด้วยสารฆ่าเชื้อโรคผสมน้ำอุ่นทุกวัน เช่นน้ำสมสายชู น้ำมะนาวหรือน้ำเกลือ” เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
แม้การกลั้วคอด้วยน้ำผสมเกลือ จะเป็นวิธีการรักษาอาการเจ็บคอ แต่ไม่มีหลักฐานว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
ข้อมูลบนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เขียนระบุว่า ถึงแม้ว่าวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมหรือวิธีการรักษาที่บ้านบางอย่างจะสามารถ “บรรเทาอาการ” ของ โควิด-19 ได้ แต่ “ยังไม่มีหลักฐานว่ายาชนิดไหนสามารถป้องกันหรือรักษาโรคดังกล่าวได้”
การกลั้วคอไม่ปรากฎอยู่ในรายการคำแนะนำเรื่องวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 ของ WHO และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย
Be aware of #CoronaVirusFacts
— Dr Alexey Kulikov (@KulikovUNIATF) February 2, 2020
Q: Can gargling mouthwash protect you from infection with #coronavirus?
A: No. There is no evidence that using mouthwash will protect you from infection with the new #2019_nCov pic.twitter.com/9z8K07sBqM
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเรื่องการกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แล้วที่นี่
“กินวิตามินซี”
ในช่วงที่ 1:05 โพสต์กล่าวแนะนำให้ “เพิ่มวิตามินซีและแร่สังกะสี ด้วยการทานผักและผลไม้”
แม้ว่าวิตามินซีจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ยังไม่มีหลักฐานว่าวิตามินซีจะสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้
Henry Chenal ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยชีวคลินิกบูรณาการ (CIRBA) ในเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรีโคสต์ อธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่าการบริโภคมะนาวหรือวิตามินซีในปริมาณที่สูง “ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโคโรน่า”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเรื่องการดื่มน้ำอุ่นและน้ำมะนาวเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ที่นี่
“ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวโลหะ”
ในช่วงที่ 0:50 โพสต์ดังกล่าวแนะนำว่า “ล้างผิวโลหะอย่างถี่ถ้วน เพราะไวรัสจะอยู่บนผิวโลหะได้ถึง 9 วัน”
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ WHO อธิบายว่าไวรัสดังกล่าวคล้ายกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งสามารถมีชีวิตรอดอยู่บนพื้นผิวต่างได้ “หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน” ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิว
สำนักข่าว AFP รายงานว่างานวิจัยสหรัฐฯ พบว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวของพลาสติกและเหล็กกล้าไร้สนิมได้ 2 ถึง 3 วัน และถึง 24 ชั่วโมงบนกระดาษลัง
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยสบู่และน้ำหรือด้วยผงซักฟอก ก่อนตามด้วยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในบ้าน

“เลี่ยงการกินของเย็น”
ในช่วงที่ 1:19 โพสต์ดังกล่าวอ้างว่า “จงหลีกเลี่ยงการกินของเย็นและดื่มของเย็น”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างว่าระบุว่า องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ แนะนำให้ประชาชนทั่วไปหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเย็น ยูนิเซฟปฎิเสธข่าวลือดังกล่าวในแถลงการณ์ฉบับนี้
แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนว่า “เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อความออนไลน์ที่ไม่ถูกต้อง ได้ถูกเผยแพร่ในหลายภาษาทั่วโลกผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นการสื่อสารของยูนิเซฟ ดูเหมือนจะระบุว่า การหลีกเลี่ยงไอศกรีมและอาหารเย็นอื่นๆ เหนือสิ่งอื่นใด สามารถช่วยป้องกันโรคได้ ข้อความนี้ แน่นอนว่า ไม่มีความจริงเลยอย่างสิ้นเชิง”
To keep ourselves and our loved ones safe from #coronavirus, it is critical to seek accurate information from verified sources, such as @UNICEF or @WHO, government health officials and trusted healthcare professionals. https://t.co/eC0ODBbWYP
— Charlotte Petri Gornitzka (@CharlottePetriG) March 6, 2020
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นเมื่อละอองจากจมูกหรือปากของผู้ป่วย ลอยไปสัมผัสกับผู้อื่นหรือลอยไปติดกับพื้นผิว WHO แนะนำให้ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ โดยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและเว้นระยะห่างจากคนที่มีอาการป่วย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา